ในปัจจุบัน เทคโนโลยีออพติคอลได้ก้าวหน้าไปจนถึงจุดที่เราสามารถถ่ายภาพคุณภาพสูงได้จากทุกระยะการถ่ายภาพ โดยทั่วไปแล้ว ไม่ว่าจะใช้ระยะการถ่ายภาพเท่าใด การใช้เลนส์ RF หรือ EF จะไม่ทำให้ประสิทธิภาพในการถ่ายภาพแตกต่างกันมากนัก ทั้งนี้เป็นเพราะเลนส์ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะมีชิ้นเลนส์ที่สามารถแก้ไขความคลาดได้หลายหลายประเภท ขึ้นอยู่กับระยะการถ่ายภาพที่ใช้กับเลนส์นั้นมากที่สุด อย่างไรก็ตาม เมื่อตัวแบบอยู่นอก “ช่วงมาตรฐาน” นี้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออยู่้ใกล้กว่าระยะที่เลนส์ออกแบบมา) จะมีโอกาสเกิดความคลาดในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งมากขึ้น
ประสิทธิภาพของเลนส์จะลดลงมากเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับการตั้งค่ารูรับแสงและประเภทของระบบออพติคอลที่ใช้ ความคลาดจะมีโอกาสเกิดขึ้นมากกว่าเมื่อทางยาวโฟกัสสั้นและรูรับแสงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเลนส์มุมกว้างที่จะทำให้ภาพมีความโค้งมากขึ้นที่ระยะใกล้ หากที่กึ่งกลางภาพมีความคมชัด จะเกิดการเบลอที่ขอบภาพ ในขณะที่โฟกัสคมชัดที่ขอบภาพจะทำให้เกิดการเบลอที่กลางภาพ เพื่อแก้ปัญหานี้ Canon จึงพัฒนาเทคโนโลยีกลไกแบบลอยตัวขึ้นมา ซึ่งสามารถแก้ไขความคลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่ว่าจะใช้ระยะการถ่ายภาพเท่าใด
กลไกนี้จะช่วยลดความคลาดที่ทุกระยะการถ่ายภาพ ทำให้เลนส์มีประสิทธิภาพในการถ่ายภาพที่ยอดเยี่ยมตั้งแต่ระยะในช่วงใกล้ไปจนถึงระยะอนันต์ ระบบแบบลอยตัวนี้ถูกนำไปใช้กับเลนส์ EF24mm f/1.4L II USM และเลนส์มุมกว้างที่มีรูรับแสงกว้างรุ่นอื่นๆ รวมถึง EF180mm f/3.5L Macro USM เพื่อให้สามารถถ่ายภาพได้อย่างคมชัดแม้ในระยะใกล้ เลนส์รูรับแสงกว้างจะทำให้เกิดความคลาดทรงกลมหากใช้ในช่วงระยะใกล้ แม้แต่เลนส์ที่มีโครงสร้างเกือบสมมาตร ดังนั้น กลไกแบบลอยตัวจึงถูกนำมาใช้กับเลนส์ EF อย่าง EF50mm f/1.2L USM และ EF85mm f/1.2L II USM รวมถึงเลนส์ RF อย่าง RF70-200mm f/2.8 L IS USM และ RF100-500mm f/4.5-7.1L IS USM ชิ้นเลนส์หลังสุดของเลนส์เหล่านี้จะถูกยึดให้อยู่นิ่งกับที่ ในขณะที่กลไกแบบลอยตัวจะทำให้ชิ้นเลนส์อื่นๆ เคลื่อนที่ได้ ซึ่งต่างจากกลไกที่ใช้กับเลนส์มุมกว้าง คุณสมบัตินี้ช่วยให้เลนส์มีประสิทธิภาพที่ยอดเยี่ยมในการถ่ายภาพและเกิดแสงแฟลร์ในระดับต่ำสุดไม่ว่าจะถ่ายภาพที่ระยะเท่าใด