ประวัติศาสตร์ - RF Lens World - Canon Thailand

    ความท้าทายที่ไม่เคยสิ้นสุด – ประวัติศาสตร์ของเลนส์ Canon

    Canon มีประวัติศาสตร์อันยาวนานในการผลิตเลนส์ และมีผลิตภัณฑ์ที่วิวัฒนาการเรื่อยมานับตั้งแต่กล้อง Range Finder ในยุคแรก จนถึงเลนส์ซีรีย์ R, ซีรีย์ FL, ซีรีย์ FD, ซีรีย์ EF และซีรีย์ RF ในปัจจุบัน ตลอดทุกย่างก้าวของวิวัฒนาการนี้ Canon ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณสมบัติที่ช่วยขยายขอบเขตความเป็นไปได้ในการถ่ายภาพให้มากขึ้น เลนส์แก้ความคลาดทรงกลม, ฟลูออไรต์, USM, ระบบ IS, เลนส์ DO และเทคโนโลยีใหม่อื่นๆ อีกมากมายถูกพัฒนาขึ้นและนำมาใช้ Canon จึงสามารถครองตำแหน่งผู้นำของโลกในการพัฒนาเลนส์ไว้ได้เสมอมา ด้านล่างนี้คือตัวอย่างเลนส์บางรุ่นจาก Canon ที่นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนในประวัติศาสตร์การพัฒนาเลนส์

    Serenar 50mm f/3.5 I

    Canon เริ่มต้นการผลิตเลนส์นี้เกือบหนึ่งทศวรรษหลังปี พ.ศ. 2483 เลนส์รุ่นแรกที่ออกวางจำหน่ายคือเลนส์ Serenar 50mm f/3.5 ที่ได้รับการพัฒนาและผลิตโดย Canon เอง ชื่อ “Serenar” ซึ่งมีความหมายว่า “ชัดเจน” มีจุดประสงค์เพื่อสื่อถึงความคมชัดที่เป็นเป้าหมายของทีมพัฒนา

    Serenar 50mm f/1.8 I

    ห้าปีหลังจากเริ่มผลิตเลนส์ Canon ก็ได้เปิดตัวเลนส์ที่จะกลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในฐานะเลนส์คลาสสิก ด้วยการนำโครงสร้างพื้นฐานของเลนส์แบบ Gauss-type (เลนส์หลักประเภทหนึ่ง) มาต่อยอดและพัฒนาเพิ่มเติม Canon จึงสามารถสร้างเลนส์ที่มีสมรรถนะในการถ่ายภาพที่คมชัดได้แม้ใช้รูรับแสงกว้างสุด นักออกแบบเลนส์ทั่วโลกต่างประทับใจในผลลัพธ์ที่ได้ และเลนส์ Canon ก็เริ่มมีชื่อเสียงอย่างรวดเร็วด้วยคุณภาพระดับโลก

    Serenar 100mm f/3.5 I

    เลนส์ 100 มม. รุ่นแรกของ Canon คือเลนส์ Triotar f/4 แบบโฟกัสยาว ซึ่งมีโครงสร้างที่ประกอบไปด้วยชิ้นเลนส์ 3 ชิ้นใน 3 กลุ่ม แต่การวางจำหน่ายที่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อ Canon เปิดตัวเลนส์ 100mm f/3.5 แบบเทเลโฟโต้ ซึ่งเป็นเลนส์เทเลโฟโต้ระยะกลางที่มีน้ำหนักเบาและขนาดกะทัดรัดโดยมีชิ้นเลนส์ 5 ชิ้นใน 4 กลุ่ม เลนส์รุ่นแรกในกลุ่มนี้มีความยาวเพียง 69.5 มม. เท่านั้น พร้อมด้วยเส้นผ่านศูนย์กลางสูงสุดที่ 44 มม. และหนักเพียง 205 กรัม (7.2 ออนซ์) เลนส์รุ่นที่ 2 นั้นเบายิ่งขึ้นอีก คือหนักเพียง 184 กรัม (6.5 ออนซ์) เท่านั้นและกลายเป็นที่นิยมในหมู่คนเล่นกล้องอย่างรวดเร็ว

    Canon 50mm f/0.95

    ในปี 2504 Canon ได้เปิดตัวเลนส์ 50mm f/0.95 ซึ่งมีรูรับแสงใหญ่ที่สุดในบรรดาเลนส์กล้องถ่ายภาพในยุคนั้น เลนส์อันเป็นตำนานรุ่นนี้ทำให้ Canon เป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้นในระดับโลก เลนส์นี้มีชื่อเสียงในด้านความสว่างของภาพที่ยอดเยี่ยมยิ่งกว่าดวงตาของมนุษย์

    FL19mm f/3.5

    เมื่อเปิดตัวเป็นครั้งแรก เลนส์ 19 มม. มุมกว้างซูเปอร์ไวด์นี้มีมุมรับภาพกว้างที่สุดในบรรดาเลนส์กล้อง SLR รุ่นอื่นๆ การจัดวางแบบสมมาตรของระบบออพติคอลที่มีชิ้นเลนส์เว้าทั้งด้านหน้าและหลัง และมีชิ้นเลนส์นูนตรงกลางช่วยขจัดความบิดเบี้ยว ความคลาดแบบโคมา (หรือที่เรียกว่าการบิดเบี้ยวของเลนส์) และข้อผิดพลาดในการขยายสีได้ เลนส์เว้าทำให้ภาพมีความสว่างเพียงพอในบริเวณขอบแม้จะมีมุมรับภาพกว้างแบบซูเปอร์ไวด์ เลนส์รุ่นก่อนๆ ที่ใช้ระบบออพติคอลแบบนี้จะแก้ไขความคลาดทรงกลมได้ยากและมีความสว่างไม่เพียงพอที่ขอบภาพหากต้องการลดขนาดให้เล็กลงที่สุด แต่เลนส์ FL19mm f/3.5 กลับแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ด้วยการใช้กลุ่มเลนส์นูน เลนส์รุ่นนี้วางจำหน่ายพร้อมช่องมองภาพแบบพิเศษ เนื่องจากกระจกจะต้องหดกลับเข้ามาเพื่อให้สามารถติดตั้งเลนส์ลงไปบนตัวกล้องได้ ช่างภาพนิยมใช้เลนส์นี้ในการถ่ายภาพพอร์ตเทรตให้มีเอฟเฟ็กต์ที่ดูเหนือจริงเล็กน้อย

    FL-F300mm f/5.6

    Canon คือหนึ่งในผู้ผลิตรายแรกๆ ที่พยายามคิดค้นวิธีการนำฟลูออไรต์ซึ่งมีคุณสมบัติที่กระจกเลนส์เทียบไม่ติดมาใช้เป็นวัสดุทำเลนส์กล้อง  แต่ฟลูออไรต์ตามธรรมชาตินั้นจะก่อตัวเป็นผลึกขนาดใหญ่ได้ยาก และมักมีสิ่งแปลกปลอมเจือปนอยู่จึงไม่เหมาะสำหรับการใช้ทำเลนส์กล้อง แต่ Canon ก็พัฒนาเทคนิคที่สามารถขจัดสิ่งแปลกปลอมและสร้างผลึกฟลูออไรต์เทียมได้เป็นผลสำเร็จ เลนส์ Canon รุ่นแรกที่ใช้ฟลูออไรต์คือ FL-F300mm f/5.6 นอกจากจะช่วยขจัดความคลาดสีแล้ว การใช้ฟลูออไรต์ยังทำให้สามารถออกแบบเลนส์ที่สั้นลงได้ด้วย เลนส์ 300 มม. นี้เป็นเลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้ที่ล้ำสมัยและมีขนาดเล็กกะทัดรัดที่สุดรุ่นหนึ่งในยุคนั้น นับแต่นั้นก็มีการนำชิ้นเลนส์ฟลูออไรต์มาใช้กับเลนส์ EF รุ่นอื่นๆ อีกหลายรุ่น รวมถึงเลนส์อีกมากมายในกลุ่มเลนส์ซีรีย์ L แบบซูเปอร์เทเลโฟโต้ที่มีสมรรถนะสูง

    * เลนส์แบบถอดเปลี่ยนได้สำหรับกล้องที่จำหน่ายให้ผู้บริโภคทั่วไป

    FD55mm f/1.2 AL

    ในปี 2514 มีการเปิดตัว F-1 กล้อง SLR รุ่นแรกจาก Canon ที่มีสเปคในระดับมืออาชีพ เลนส์ในซีรีย์ FD ซึ่งเปิดตัวพร้อมกับกล้อง F-1 ได้รับเสียงชื่นชมเป็นอย่างมากว่ามีสมรรถนะด้านออพติคอลที่ดีเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นความเปรียบต่างสูง ความคมชัด และสมดุลสีที่โดดเด่น รวมถึงประสิทธิภาพทางด้านกลไกที่ยอดเยี่ยมและการใช้งานที่ง่ายดาย FD55mm f/1.2 AL เป็นเลนส์แก้ความคลาดทรงกลมรุ่นแรกสำหรับกล้อง SLR ที่มีการควบคุมไดอะแฟรมอัตโนมัติ ประกายแฉกแสงที่ผ่านเข้ามาในส่วนขอบของเลนส์ทรงกลมจะเกิดการหักเหในลักษณะที่ต่างจากแสงที่ผ่านเข้ามาตรงกลาง หากใช้เลนส์ที่มีรูรับแสงกว้าง จุดโฟกัสของแฉกแสงเหล่านี้อาจมีตำแหน่งที่คลาดเคลื่อนไป ซึ่งจะทำให้เกิดความคลาดทรงกลมและมีโอกาสเกิดแสงแฟลร์มากขึ้น แต่ชิ้นเลนส์แก้ความคลาดทรงกลมแก้ปัญหานี้ได้โดยยับยั้งการเกิดแสงแฟลร์ที่รูรับแสงกว้างสุด พร้อมทั้งให้ภาพที่มีความเปรียบต่างสูง Canon ต้องสร้างเครื่องจักรขึ้นมาเองในการผลิตเลนส์เหล่านี้ จึงนับเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าวิธีการพัฒนาแบบครบวงจรของเราช่วยเปลี่ยนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีเอกลักษณ์ได้อย่างไร

    TS35mm f/2.8 SSC

    เลนส์นี้เป็นเลนส์กล้อง 35 มม. รุ่นแรกที่มีฟังก์ชั่นทิลต์และชิฟต์ จึงเหมาะสำหรับการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมและภาพเชิงพาณิชย์ซึ่งก่อนหน้านี้นิยมใช้กล้องแบบ large-format view เลนส์รุ่นนี้จึงเป็นเหมือนรากฐานที่ช่วยให้ Canon สามารถเปิดตัวเลนส์ TS-E ในซีรีย์ EF ได้

    * หมายถึงกล้อง 35 มม.

    FD35-70mm f/2.8-3.5 SSC

    การออกแบบอันเรียบง่ายแต่มีเอกลักษณ์ของเลนส์สองกลุ่มในเลนส์นี้กลายเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในกลุ่มเลนส์ซูมสั้น เลนส์นี้มีโครงสร้างท่อเลนส์ซูมอันแม่นยำที่สามารถขับเคลื่อนกลุ่มเลนส์ด้านหน้าและหลังได้พร้อมกันในลักษณะไม่เป็นเส้นตรง กล่าวคือ กลุ่มเลนส์ด้านหน้าและหลังจะเคลื่อนตัวออกจากกันที่มุมกว้างและบรรจบกันที่ระยะเทเลโฟโต้ โดยที่ความยาวของท่อเลนส์ยังคงเดิม ไดอะแฟรมได้รับการออกแบบมาให้เคลื่อนที่ไปพร้อมกับกลุ่มเลนส์ด้านหลัง ในขณะที่เส้นผ่านศูนย์กลางของรูรับแสงจะเปลี่ยนไปตามการปรับการซูม และเลนส์อันล้ำสมัยนี้ยังมาพร้อมกับการตั้งค่าแบบมาโครด้วย ในช่วงนั้น ช่างภาพมืออาชีพไม่นิยมใช้เลนส์ซูมกันเท่าใดนักเนื่องจากมีประสิทธิภาพด้านออพติคอลที่ด้อยกว่าเลนส์ทางยาวโฟกัสเดียวมาก อย่างไรก็ตาม เมื่อประสิทธิภาพอันโดดเด่นเริ่มเป็นที่ยอมรับ เลนส์รุ่นนี้ก็ได้กลายมาเป็นอุปกรณ์ชิ้นมาตรฐานสำหรับช่างภาพมืออาชีพ

    FD400mm f/4.5 SSC

    ในระยะเวลาหนึ่งทศวรรษหลังปี 2513 เลนส์เทเลโฟโต้ทั่วไปส่วนใหญ่จะมีโครงสร้างทางกลไกที่ใหญ่มากเนื่องจากการโฟกัสจะใช้วิธีการปรับความยาวของท่อเลนส์ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม เลนส์ FD400mm f/4.5 SSC ได้นำการออกแบบที่มีโฟกัสด้านหลังมาใช้เป็นครั้งแรก ซึ่งสามารถปรับโฟกัสโดยขยับเลนส์เพียงส่วนเดียวเท่านั้น จึงทำให้การใช้งานลื่นไหลขึ้นมาก และเลนส์นี้ยังมีระบบระดับโฟกัสแบบปรับได้ ซึ่งจะจับโฟกัสที่ตัวแบบอย่างช้าๆ ในภาพที่มีระยะไกล และจับโฟกัสอย่างรวดเร็วในภาพโคลสอัพ เช่นเดียวกับสายตาของมนุษย์ ตั้งแต่นั้นมา การออกแบบกะทัดรัดน้ำหนักเบาที่มีโฟกัสด้านหลังนี้ก็ถูกนำมาใช้กับเลนส์อีกหลายรุ่น ซึ่งมีส่วนช่วยเป็นอย่างมากในการพัฒนาระบบโฟกัสอัตโนมัติความเร็วสูงที่ใช้ในเลนส์ Canon EF

    FD14mm f/2.8L ใหม่

    เลนส์นี้เป็นเลนส์มุมกว้างที่สุดในซีรีย์ FD ที่ใช้ชิ้นเลนส์แก้ความคลาดทรงกลมในการขจัดความบิดเบี้ยว Canon ต้องพัฒนาซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ขึ้นมาเองในการออกแบบเลนส์แก้ความคลาดทรงกลมนี้ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าการให้ความสำคัญในการสร้างเทคโนโลยีพื้นฐานและเทคโนโลยีเสริมให้สมบูรณ์แบบช่วยให้ Canon สร้างสรรค์ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยได้อย่างไร

    EF50mm f/1.0L USM

    ขณะเปิดตัว เลนส์มาตรฐานรุ่นนี้มีรูรับแสงกว้างที่สุดในบรรดาเลนส์กล้อง SLR 35 มม. ทั้งหมด ด้วยชิ้นเลนส์แก้ความคลาดทรงกลมแบบเจียรและขัดผิว 2 ชิ้นและชิ้นเลนส์แก้วดัชนีการหักเหแสงสูง 4 ชิ้น เลนส์จึงมีประสิทธิภาพในการสร้างภาพถ่ายที่โดดเด่นด้วยความเปรียบต่างสูงและแสงแฟลร์น้อยแม้ใช้รูรับแสงกว้างสุดที่ f/1.0 กลไกแบบลอยตัวช่วยคงคุณภาพของภาพที่สูงไว้แม้ใช้ระยะโฟกัสใกล้สุด ในขณะที่ฟังก์ชั่นแมนนวลโฟกัสอิเล็กทรอนิกส์ทำให้สามารถใช้โฟกัสแบบแมนนวลได้ตลอดเวลาเพียงสัมผัสเบาๆ แม้จะอยู่ในโหมดโฟกัสอัตโนมัติ คุณสมบัตินี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้โฟกัสอัตโนมัติที่มีความเร็วสูงอยู่แล้วซึ่งขับเคลื่อนโดย Ultrasonic Motor (USM) ชนิดวงแหวน

    * ข้อมูลในปี พ.ศ. 2532

    EF35-350mm f/3.5-5.6L USM

    เลนส์ซูมสำหรับกล้อง SLR รุ่นแรกที่มีอัตราการซูมสูงสุดถึง 10 เท่า เลนส์นี้มีประสิทธิภาพที่น่าเชื่อถือในทุกช่วงตั้งแต่ระยะมุมกว้างไปจนถึงซูเปอร์เทเลโฟโต้ แม้ในสถานการณ์ที่ต้องการความคล่องตัวสูง เช่น การถ่ายภาพกีฬา การออกแบบเลนส์นี้ใช้ชิ้นเลนส์ 6 กลุ่ม โดยที่ 5 กลุ่มจะเป็นชิ้นเลนส์ที่เคลื่อนที่ได้เพื่อให้มีอัตราการซูมสูงในขนาดที่เล็กกะทัดรัด มีการใช้เลนส์ UD 2 ชิ้นเพื่อแก้ไขความคลาดสี จึงสามารถถ่ายภาพที่มีความละเอียดสูงและความเปรียบต่างที่โดดเด่นได้ และเลนส์นี้ยังมีคุณสมบัติที่โด่งดังอีกมากมาย เช่น คอลลาร์ขาตั้งกล้องที่หมุนได้อย่างราบรื่น วงแหวนพิเศษสำหรับปรับแรงเสียดทานในการซูม แมนนวลโฟกัสได้ตลอดเวลา และคุณสมบัติอื่นๆ ที่ช่วยให้ใช้งานได้อย่างสะดวกสบาย

    * สำหรับกล้อง SLR ที่ใช้เลนส์แบบถอดเปลี่ยนได้

    EF75-300mm f/4-5.6 IS USM

    เลนส์นี้เป็นเลนส์เทเลโฟโต้แบบถอดเปลี่ยนได้สำหรับกล้อง SLR รุ่นแรกที่มีฟังก์ชั่นป้องกันภาพสั่นไหว (ระบบ IS) เลนส์อันล้ำสมัยนี้มีเซนเซอร์ไจโร 1 คู่ที่สามารถตรวจจับการเคลื่อนไหวของกล้องและขับเคลื่อนเลนส์กลุ่มที่สองในทิศทางตรงข้าม จึงแก้ไขการเคลื่อนไหวที่อาจทำให้เกิดภาพเบลอได้ ประสิทธิภาพ IS ของกลไกนี้เทียบเท่ากับการเพิ่มความเร็วชัตเตอร์ขึ้น 2 สต็อป*2 และใช้ Micro USM ในการขับเคลื่อนโฟกัสอัตโนมัติ จึงช่วยลดเสียงของมอเตอร์ให้เบาลงได้

    * สำหรับกล้อง SLR 35 มม. ที่ใช้เลนส์แบบถอดเปลี่ยนได้
    *2 ขีดจำกัดความเร็วชัตเตอร์ในการถ่ายภาพโดยไม่ใช้ขาตั้งกล้อง (เมื่อไม่ใช้ระบบป้องกันภาพสั่นไหว) สามารถคำนวณได้เป็นวินาทีที่ [1/ทางยาวโฟกัสของเลนส์]

    EF300mm f/4L IS USM

    เลนส์เทเลโฟโต้นี้เป็นเลนส์ Canon ระดับมืออาชีพรุ่นแรกที่มีกลไกป้องกันภาพสั่นไหว (ระบบ IS) จึงสามารถใช้ในการถ่ายภาพโดยไม่ใช้ขาตั้งกล้องได้ในสถานการณ์ที่ก่อนหน้านี้ต้องใช้ขาตั้งเท่านั้น กลไกของระบบ IS มีประสิทธิภาพในการป้องกันภาพสั่นไหวเทียบเท่าความเร็วชัตเตอร์* ที่เพิ่มขึ้น 2 สต็อปโดยประมาณ เลนส์จะมี 2 โหมดด้วยกัน โหมดที่ 1 มีประสิทธิภาพในการถ่ายตัวแบบที่อยู่นิ่ง และโหมดที่ 2 เหมาะสำหรับการถ่ายภาพแบบแพนกล้อง เลนส์ Ultra-low Dispersion (UD) 2 ชิ้นในระบบออพติคอลช่วยลดความคลาดสีและให้ความคมชัดรวมถึงความเปรียบต่างในระดับสูงทั่วทั้งภาพ เมื่อแสดงให้เห็นแล้วว่ากลไกป้องกันภาพสั่นไหวนั้นเป็นประโยชน์แม้แต่กับช่างภาพมืออาชีพที่มีทักษะยอดเยี่ยม เลนส์นี้จึงทำให้ช่างภาพมืออาชีพจำนวนมากหันมาใช้เลนส์ Canon ที่มีกลไกของระบบ IS

    * ขีดจำกัดความเร็วชัตเตอร์ในการถ่ายภาพโดยไม่ใช้ขาตั้งกล้อง (เมื่อไม่ใช้ระบบป้องกันภาพสั่นไหว) สามารถคำนวณได้เป็นวินาทีที่ [1/ทางยาวโฟกัสของเลนส์]

    EF400mm f/4 DO IS USM

    EF400mm f/4 DO IS USM เป็นเลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้ที่นำเอาเทคโนโลยี “เลนส์ DO” ของ Canon มาใช้ในระบบออพติคอลเป็นครั้งแรก “เลนส์ DO” ใช้ชิ้นเลนส์ออพติคอลกระจายแสง (DO) เคลือบหลายชั้นเพื่อลดขนาดของเลนส์โดยที่ยังคงคุณภาพของภาพที่สูงเอาไว้ได้ เมื่อเทียบกับเลนส์ที่มีสเปคการออกแบบเหมือนกันแต่มีแค่ชิ้นเลนส์ออพติคอลหักเหแสงเท่านั้น เลนส์ DO จะสามารถลดความยาวได้ 27% และลดน้ำหนักได้ 31% เลนส์นี้มีกลไกป้องกันภาพสั่นไหว (ระบบ IS) ที่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขภาพเบลอขณะถ่ายภาพโดยไม่ใช้ขาตั้งกล้องด้วยมือเทียบเท่าการเพิ่มความเร็วชัตเตอร์ 2 สต็อป*2 และยังมีโครงสร้างกันฝุ่นละอองและความชื้นรวมถึงฟังก์ชั่นหยุด AF จึงมีประสิทธิภาพเกือบเทียบเท่าเลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้ที่มีระบบ IS ในซีรีย์ L

    * หมายถึงเลนส์แบบถอดเปลี่ยนได้สำหรับกล้อง SLR 35 มม.
    *2 ขีดจำกัดความเร็วชัตเตอร์ในการถ่ายภาพโดยไม่ใช้ขาตั้งกล้อง (เมื่อไม่ใช้ระบบป้องกันภาพสั่นไหว) สามารถคำนวณได้เป็นวินาทีที่ [1/ทางยาวโฟกัสของเลนส์]

    EF24mm f/1.4L II USM

    เลนส์มุมกว้าง 24 มม. เส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่นี้เป็นเลนส์รุ่นแรก* ที่ใช้การเคลือบแบบ Subwavelength Structure Coating (SWC) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีป้องกันแสงสะท้อนที่ปฏิวัติวงการ SWC จะสร้างความไม่สม่ำเสมอบนผิวเลนส์ในระดับนาโนเมตรซึ่งเล็กกว่าความยาวคลื่นของแสงที่สามารถมองเห็นได้ จึงลดแสงแฟลร์และแสงหลอกที่เกิดขึ้นอย่างได้ผลเมื่อแสงตกกระทบลงบนเลนส์ในมุมแคบ การเคลือบด้วยฟิล์มที่ใช้ไอแบบเก่ามักไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ แต่ SWC เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ใช้ความไม่สม่ำเสมอที่เล็กในระดับกล้องจุลทรรศน์บนผิวเลนส์เพื่อยับยั้งการเกิดแสงสะท้อน นอกจากนี้ EF24mm f/1.4L II USM ยังมีชิ้นเลนส์แก้ความคลาดทรงกลมขึ้นรูปด้วยแก้วที่มีความแม่นยำสูง 2 ชิ้น และชิ้นเลนส์ UD อีก 2 ชิ้นเพื่อช่วยในการขจัดความคลาดประเภทต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ กลไกแบบลอยตัวทำให้ภาพมีคุณภาพด้วยความละเอียดสูงและความเปรียบต่างสูงทั่วทั้งภาพแม้ในส่วนมุม SWC ถือเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่ช่วยให้มีอิสระในการออกแบบออพติคอลมากขึ้น ทั้งยังส่งเสริมให้การพัฒนาเลนส์ Canon ก้าวหน้าไปมากยิ่งขึ้น

    *เทียบกับเลนส์ถ่ายภาพ

    EF100mm f/2.8L Macro IS USM

    เลนส์มาโครเทเลโฟโต้ระยะกลางนี้มีระบบป้องกันภาพสั่นไหว (IS) แบบ Hybrid จาก Canon ซึ่งเป็นระบบป้องกันภาพสั่นไหวแบบออพติคอลรุ่นแรกของโลก* ที่สามารถชดเชยได้ทั้งการสั่นของกล้องแบบมุมองศาและแบบแนวดิ่ง การชดเชยการสั่นแบบมุมองศาด้วยระบบ IS จะเป็นประโยชน์ในสถานการณ์ถ่ายภาพแทบทุกแบบ ส่วนการชดเชยการสั่นในแนวดิ่ง โดยมากจะเป็นประโยชน์ในการถ่ายภาพโคลสอัพ นอกจากไจโรตรวจจับการสั่น (เซนเซอร์ความเร็วเชิงมุม) ที่ใช้ในระบบ IS แบบออพติคอลรุ่นก่อนๆ Hybrid IS ยังใช้เซนเซอร์ตรวจจับความเร่งในการตรวจจับการเคลื่อนไหวของกล้องในแนวขนานกับระนาบโฟกัสด้วย อัลกอริธึมแบบใหม่จะคำนวณการสั่นของกล้องโดยใช้ค่าที่อ่านได้พร้อมกันจากเซนเซอร์ทั้งสองชนิด และปรับชิ้นเลนส์ให้ชดเชยทั้งการสั่นของกล้องแบบมุมองศาและแบบแนวดิ่ง วิธีการแบบสองทิศทางเพื่อลดการสั่นของกล้องนี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการถ่ายภาพโดยไม่ใช้ขาตั้งในระยะมาโครได้อย่างดีเยี่ยม เลนส์ EF100mm f/2.8L Macro IS USM ใช้ชิ้นเลนส์ UD ในการแก้ไขความคลาดสี ผลลัพธ์ที่ได้คือคุณภาพของภาพที่น่าทึ่ง ความทนทานและความสามารถในการควบคุมอันยอดเยี่ยมที่ช่างภาพคาดหวังจากเลนส์ซีรีย์ L

    * หมายถึงเลนส์แบบถอดเปลี่ยนได้สำหรับกล้อง SLR

    EF70-300mm f/4-5.6L IS USM

    เลนส์ซูมเทเลโฟโต้นี้เป็นเลนส์ EF รุ่นแรกที่ใช้การเคลือบฟลูออรีนซึ่งช่วยในการป้องกันฝุ่นละอองหรือรอยเปื้อนที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของภาพและช่วยให้ไม่ต้องทำความสะอาดเลนส์บ่อยนัก การเคลือบนี้ทำให้เกิดพื้นผิวราบเรียบที่สามารถป้องกันของเหลว (รวมถึงน้ำมัน) และฝุ่นละอองไม่ให้เกาะติดบนเลนส์ ทั้งยังช่วยให้ทำความสะอาดได้ง่ายขึ้นเนื่องจากสามารถขจัดคราบต่างๆ ออกได้เพียงใช้แปรงเป่าลมเท่านั้น แม้แต่คราบที่เช็ดออกยากหรือรอยนิ้วมือก็สามารถทำความสะอาดได้อย่างง่ายดายด้วยผ้านุ่มที่แห้งโดยไม่ต้องใช้น้ำยาทำความสะอาดพิเศษใดๆ การเคลือบฟลูออรีนนี้จึงช่วยให้ช่างภาพถ่ายภาพได้คมชัดขึ้นและใช้เวลาน้อยลงในการดูแลรักษากล้่อง

    EF8-15mm f/4LFisheye USM

    เลนส์นี้เป็นเลนส์ซูมฟิชอายรุ่นแรกของโลกที่ครอบคลุมมุมรับภาพ 180° ไม่ว่าในแนวนอนหรือแนวตั้ง ภาพฟิชอายทรงกลมที่มีมุมรับภาพ 180° ในทุกทิศทางนั้นสามารถถ่ายได้ด้วยกล้อง D-SLR แบบฟูลเฟรม 35 มม. ที่ทางยาวโฟกัส 8 มม. วิธีนี้จะบันทึกทุกสิ่งที่อยู่ด้านหน้าเลนส์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ เลนส์ยังสามารถถ่ายภาพฟิชอายที่มีมุมรับภาพแนวทแยง 180° ได้ด้วยไม่ว่าเซนเซอร์ภาพจะมีขนาดเท่าใด หากใช้กล้องที่มีเซนเซอร์ขนาดอื่นนอกเหนือไปจาก 35 มม. เครื่องหมายดัชนีที่ด้านข้างของวงแหวนซูมจะเป็นตัวบอกการตั้งค่าที่ต้องใช้ในการถ่ายภาพฟิชอายให้มีมุมรับภาพแนวทแยง 180° และเลนส์นี้ยังมีสวิตช์จำกัดการซูมด้วย ด้วยระยะโฟกัสใกล้สุดที่ใกล้ถึง 0.15 ม. (6 นิ้ว) ช่างภาพจึงสามารถใช้ประโยชน์จากเปอร์สเปคทีฟที่บิดเบี้ยวเพื่อให้ภาพมาโครแสดงอารมณ์ออกมาได้อย่างเป็นเอกลักษณ์

    * หมายถึงเลนส์แบบถอดเปลี่ยนได้สำหรับกล้อง SLR

    EF24mm f/2.8 IS USM
    EF28mm f/2.8 IS USM

    ความเร็วชัตเตอร์ต่ำสุดที่เราสามารถใช้ขณะถ่ายภาพโดยไม่ใช้ขาตั้งโดยไม่ได้รับผลกระทบจากการสั่นของกล้องที่ทราบกันโดยทั่วไปคือ (1/ทางยาวโฟกัส) วินาที อย่างไรก็ตาม ในสภาวะการถ่ายภาพแบบเดียวกัน การสั่นของกล้องจะมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยกว่าหากมุมรับภาพของเลนส์กว้างขึ้น การปรับปรุงความละเอียดของภาพของเทคโนโลยี EOS DIGITAL ทำให้สามารถดูภาพบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่ความละเอียดภาพดั้งเดิมได้ แต่ก็ทำให้มองเห็นการสั่นของกล้องที่เกิดเพียงเล็กน้อยได้ชัดเจนขึ้นเช่นกัน ซึ่งปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้นกับภาพฟิล์ม

    เพื่อรับมือกับความท้าทายนี้ Canon จึงสร้างเลนส์ทางยาวโฟกัสเดียวมุมกว้างรุ่นแรกของโลก* ที่มีกลไกป้องกันภาพสั่นไหว (IS) ในตัวขึ้นมา เมื่อการถ่ายภาพโดยไม่ใช้ขาตั้งด้วยความเร็วชัตเตอร์ต่ำเป็นตัวเลือกที่สามารถปฏิบัติได้จริง เลนส์จึงมีความสามารถในการถ่ายทอดภาพที่หลากหลายยิ่งขึ้น

    * หมายถึงเลนส์แบบถอดเปลี่ยนได้สำหรับกล้อง SLR

    EF-S18-135mm f/3.5-5.6 IS STM
    EF40mm f/2.8 STM

    เลนส์เหล่านี้เป็นเลนส์ SLR แบบถอดเปลี่ยนได้รุ่นแรกที่ใช้ Stepping Motor (STM) ในการขับเคลื่อนระบบโฟกัสอัตโนมัติและช่วยให้ AF ทำงานได้อย่างราบรื่นและเงียบเชียบแม้ในการถ่ายภาพเคลื่อนไหวหรือการถ่ายภาพในโหมด Live View เลนส์ EF-S18-135mm f/3.5-5.6 IS STM มีการทำงานที่เงียบจนเหลือเชื่อและมีประสิทธิภาพที่โดดเด่นในการติดตามตัวแบบในโหมด Movie Servo AF เนื่องจากใช้ระบบขับเคลื่อน AF แบบลีดสกรู เลนส์ EF 40mm f/2.8 STM ใช้ระบบขับเคลื่อน AF แบบเฟืองที่เหมาะสำหรับเลนส์คอมแพคมากกว่า ในกรณีนี้ เลนส์แพนเค้กจะหนาเพียง 22.8 มม. เท่านั้น และยังใช้งานง่ายอีกด้วย โดยการพัฒนาแอคทูเอเตอร์ใหม่ๆ สำหรับกลไกโฟกัส Canon จึงสามารถพัฒนาเลนส์ EF ที่มีความหลากหลายได้มากยิ่งขึ้น เลนส์จาก Canon สามารถรองรับฟังก์ชั่นการทำงานของซีรีย์ EOS DIGITAL ที่กำลังพัฒนาได้อย่างเต็มรูปแบบพร้อมทั้งช่วยให้ช่างภาพถ่ายทอดผลงานได้ในหลากหลายสไตล์ยิ่งขึ้น

    * หมายถึงเลนส์แบบถอดเปลี่ยนได้สำหรับกล้อง SLR

    EF200-400mm f/4L IS USM Extender 1.4x

    เลนส์ซูมอัลตร้าเทเลโฟโต้สุดล้ำสมัยรุ่นนี้มีอุปกรณ์ขยายระยะเลนส์ 1.4 เท่าในตัว ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้เปลี่ยนช่วงโฟกัสจาก 200-400 มม. เป็น 280-560 มม. ด้วยการสั่งงานง่ายๆ เพียงครั้งเดียว คุณสมบัตินี้เปิดโอกาสความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการถ่ายภาพ ตัวอย่างเช่น ช่างภาพจะสามารถเปลี่ยนทางยาวโฟกัสจาก 400 มม. เป็น 560 มม. ได้อย่างรวดเร็วขณะมองผ่านช่องมองภาพและถ่ายภาพ การออกแบบออพติคอลที่ไม่เหมือนใครใช้เลนส์ฟลูออไรต์ 1 ชิ้นและเลนส์ Ultra-low Dispersion (UD) 4 ชิ้นเพื่อให้สามารถถ่ายภาพได้คมชัดเทียบเท่าภาพที่ถ่ายด้วยเลนส์อัลตร้าเทเลโฟโต้ทางยาวโฟกัสเดียว และเลนส์จะมีคุณสมบัติแบบเดียวกันนี้ตลอดช่วงการซูมแม้ในขณะใช้อุปกรณ์ขยายระยะเลนส์ เลนส์นี้ประกอบไปด้วยชิ้นเลนส์ 33 ชิ้นใน 24 กลุ่ม ซึ่งนับว่ามีจำนวนชิ้นเลนส์มากที่สุดในบรรดาเลนส์จากซีรีย์ EF แต่เลนส์นี้กลับมีขนาดเล็กกะทัดรัดอย่างไม่น่าเชื่อ และยังใช้งานได้อย่างลื่นไหลทั้งยังมีความทนทานสูงด้วยการออกแบบทางกลไกที่ล้ำสมัย วัสดุคุณภาพสูง และเทคโนโลยีในการผลิต

    เมื่อใช้ร่วมกับอุปกรณ์ขยายระยะเลนส์ EF1.4x III ที่ติดตั้งแล้ว (และอุปกรณ์ขยายระยะเลนส์ในตัว) ทางยาวโฟกัสสูงสุุดจะเพิ่มขึ้นได้มากถึง 780 มม. การใช้งานเช่นนี้จะมีรูรับแสงกว้างสุดถึง f/8 จึงสามารถใช้ AF กับกล้องอย่าง EOS-1D X ได้ และเมื่อติดตั้งอุปกรณ์ขยายระยะเลนส์ EF 2x III แทน EF 1.4x III จะสามารถเปลี่ยนเลนส์ให้กลายเป็นเลนส์ซูมอัลตร้าเทเลโฟโต้ที่มีทางยาวโฟกัสสูงสุดถึง 1,120 มม. ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยความสามารถที่กล่าวมาทั้งหมด เลนส์ซูมประสิทธิภาพสูงรุ่นนี้จึงช่วยปูทางไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ อีกมากมายในการถ่ายภาพเทเลโฟโต้

    * หมายถึงเลนส์แบบถอดเปลี่ยนได้สำหรับกล้อง SLR

    EF100-400mm f/4.5-5.6L IS II USM

    เลนส์นี้เป็นเลนส์รุ่นแรกที่ใช้ Air Sphere Coating (ASC) ซึ่งเป็นการเคลือบด้วยฟิล์มที่ใช้ไอประเภทหนึ่งที่สร้างชั้นเคลือบจากซิลิกอนไดออกไซด์กับอากาศและมีดัชนีการหักเหแสงในระดับที่ต่ำมาก การเคลือบแบบนี้ให้คุณสมบัติในการป้องกันแสงสะท้อนที่ดีเยี่ยม และมีประสิทธิภาพดีอย่างยิ่งในการป้องกันแสงตกกระทบที่ผ่านเข้ามาในเลนส์โดยทำมุมเกือบตั้งฉากกับเลนส์ จึงสามารถลดการเกิดแสงแฟลร์และแสงหลอกได้เป็นอย่างดี ชิ้นเลนส์ฟลูออไรต์และชิ้นเลนส์ Super Ultra-low Dispersion (UD) ทำให้เลนส์รุ่นนี้มีความสามารถในการแสดงภาพอันโดดเด่น ระบบป้องกันภาพสั่นไหว (IS) สามารถลดภาพเบลอจากการสั่นของกล้องได้เทียบเท่าการเพิ่มความเร็วชัตเตอร์ประมาณ 4 สต็อป จึงสามารถรองรับการถ่ายภาพเทเลโฟโต้โดยไม่ใช้ขาตั้งได้ เลนส์ที่มีประสิทธิภาพสูงและความสามารถรอบด้านรุ่นนี้มีคุณสมบัติมากมายที่ช่วยเพิ่มความเป็นไปได้ในการถ่ายภาพให้มากขึ้น รวมถึงระยะโฟกัสใกล้สุดที่ 0.98 ม. และคุณสมบัติในการปรับการซูมที่ช่วยให้ผู้ใช้ปรับเปลี่ยนรายละเอียดเล็กๆ ในองค์ประกอบภาพได้

    EF11-24mm f/4L USM

    เลนส์ซูมมุมกว้างอัลตร้าไวด์แบบฟูลเฟรมนี้มีทางยาวโฟกัสต่ำสุด 11 มม. การจัดเรียงภายในเลนส์ประกอบไปด้วยชิ้นเลนส์แก้ความคลาดทรงกลม 4 ชิ้น ซึ่งรวมถึงชิ้นเลนส์แก้ความคลาดทรงกลมแบบเจียรที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่ที่สุดในโลก (87 มม.) เทคโนโลยีที่เป็นเอกสิทธิ์ของ Canon ถูกนำมาใช้เพื่อลดความบิดเบี้ยวที่มักจะเกิดกับเลนส์มุมกว้าง เลนส์จึงสามารถคงประสิทธิภาพในการสร้างภาพถ่ายระดับสูงที่ผู้ใช้คาดหวังว่าจะได้รับจากเลนส์ในซีรีย์ “L” เอาไว้ได้ นอกจากเลนส์แก้ความคลาดทรงกลมแบบเจียรแล้ว ยังมีการใช้เลนส์ UD และ Super UD ด้วยเพื่อแก้ไขความคลาดสี ในขณะที่การเคลือบป้องกันแสงสะท้อนแบบ Subwavelength Structure Coating (SWC) และ Air Sphere Coating (ASC) ช่วยลดการเกิดแสงหลอกและแสงแฟลร์

    * หมายถึงส่วนประกอบของเลนส์กล้อง SLR แบบถอดเปลี่ยนได้และเลนส์กล้องมิเรอร์เลส ไม่รวมเลนส์ฟิชอาย

    EF35mm f/1.4L II USM

    เลนส์นี้เป็นเลนส์รุ่นแรกที่นำเลนส์ Blue Spectrum Refractive Optics (BR) อันเป็นเอกสิทธิ์ของ Canon มาใช้ ซึ่งเลนส์นี้พัฒนาขึ้นมาเพื่อการแก้ไขความคลาดสีโดยเฉพาะ ระบบออพติค BR แก้ไขความคลาดสีที่มักจะเกิดกับเลนส์รูรับแสงกว้างโดยการใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติในการกระจายแสงที่ผิดปกติอันเป็นเอกลักษณ์ซึ่งสามารถหักเหความยาวคลื่นของแสงสีน้ำเงิน (ความยาวคลื่นสั้นกว่า) ได้มากกว่า นอกจากชิ้นเลนส์ BR เลนส์แก้ความคลาดทรงกลมแบบขัดผิวและเลนส์ UD ยังช่วยให้มีประสิทธิภาพที่เหนือชั้นในการแสดงภาพตั้งแต่กึ่งกลางไปจนถึงขอบ แม้ขณะถ่ายภาพด้วยรูรับแสงกว้างสุด รูรับแสงกว้างที่ f/1.4 ทำให้สามารถถ่ายภาพโดยไม่ใช้ขาตั้งกล้องได้ในสภาวะแสงน้อย หรือสร้างเอฟเฟ็กต์ภาพเบลอที่สวยงามได้ในขณะที่ภาพในช่องมองภาพยังคงสว่างและคมชัดเสมอ

    RF28-70mm F2 L USM

    RF28-70mm F2 L USM เป็นเลนส์รุ่นแรกที่ให้รูรับแสงกว้างสุดที่ f/2 ตลอดช่วงระยะโฟกัสตั้งแต่ 28 มม. ไปจนถึง 70 มม. เลนส์ใช้ประโยชน์จากเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดใหญ่ของเมาท์ RF และระยะแบ็คโฟกัสสั้นเพื่อให้ใช้การออกแบบออพติคอลที่มอบประสิทธิภาพดีเยี่ยมในการสร้างภาพถ่ายและจับถือได้สะดวก การจัดเรียงที่มีประสิทธิภาพของชิ้นเลนส์แก้ความคลาดทรงกลมทั้ง 4 และชิ้นเลนส์ Super UD ทำให้เลนส์มีความละเอียดสูงและความเปรียบต่างสูงตั้งแต่กึ่งกลางภาพไปจนถึงขอบ ถึงแม้จะเป็นเลนส์ซูม แต่ประสิทธิภาพในการสร้างภาพถ่ายของเลนส์รุ่นนี้ก็ใกล้เคียงกับเลนส์ทางยาวโฟกัสเดียว เลนส์นี้เหมาะสำหรับการถ่ายภาพพอร์ตเทรตและภาพทิวทัศน์ และด้วยรูรับแสงกว้างสุด f/2 ที่มีความสว่าง จึงสามารถใช้ในการถ่ายภาพงานแต่งงานและภาพดวงดาวได้ด้วย RF28-70mm F2 L USM เป็นเลนส์ซูมที่สามารถใช้แทนเลนส์ทางยาวโฟกัสเดียวหลายชิ้นได้ จึงนับเป็นความพยายามอีกก้าวหนึ่งของ Canon ในการนำเอาความสามารถอันเป็นเอกลักษณ์ของเมาท์ RF มาใช้เพื่อให้ช่างภาพสามารถถ่ายทอดภาพออกมาได้หลากหลายสไตล์มากยิ่งขึ้น

    * หมายถึงเลนส์ซูมมาตรฐานโฟกัสอัตโนมัติแบบถอดเปลี่ยนได้สำหรับกล้องดิจิทัลแบบฟูลเฟรม 35 มม.

    EF400mm f/2.8L IS III USM
    EF600mm f/4L IS III USM

    เลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้รูรับแสงกว้างรุ่นแรกของ Canon ที่ใช้การเคลือบกันความร้อน เลนส์ทั้งสองรุ่นนี้กลายเป็นมาตรฐานใหม่ของเลนส์ที่มีน้ำหนักเบา EF400mm f/2.8L IS III USM และ EF600mm f/4L IS III USM มีน้ำหนักราว 2,840 กรัมและ 3,050 กรัมตามลำดับ ทั้งสองรุ่นให้คุณภาพของภาพที่สูงและน้ำหนักที่เบากว่าเดิมมาก เลนส์เหล่านี้ใช้โครงสร้างการออกแบบพื้นฐานแบบใหม่ที่รวมเอาชิ้นเลนส์ทั้งหมดไว้ที่ด้านหลังเลนส์ชิ้นแรก (หน้าสุด) และใช้ชิ้นเลนส์ฟลูออไรต์ ชิ้นเลนส์ Super UD รวมถึงวัสดุกระจกแบบใหม่ นอกจากนี้ วงแหวนโฟกัสอิเล็กทรอนิกส์และชุดป้องกันภาพสั่นไหวรุ่นใหม่ยังช่วยให้การออกแบบทางกลไกมีน้ำหนักที่เบาลง และเลนส์ยังใช้การเคลือบกันความร้อนที่เป็นเอกสิทธิ์ของ Canon ในการลดอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นในตัวเลนส์ด้วย การออกแบบท่อเลนส์นี้สามารถยับยั้งการนำความร้อนได้ และการเคลือบสีขาวแบบใหม่จะช่วยป้องกันไม่ให้อุณหภูมิภายในท่อเลนส์เพิ่มสูงขึ้นโดยการเพิ่มประสิทธิภาพในการสะท้อนแสงอินฟราเรดจากแสงอาทิตย์ คุณสมบัติทั้งหมดนี้ทำให้เลนส์มีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้นขณะใช้งานท่ามกลางแสงแดดจ้าเป็นเวลานาน

    RF85mm f/1.2L USM DS

    โดยทั่วไปการปรับปรุงฟังก์ชั่นการทำงานด้านออพติคอลของเลนส์จะทำให้ภาพในส่วนที่เคยเกิดการเบลอมีความคมชัดมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม มีช่างภาพจำนวนหนึ่งที่ต้องการให้ภาพของตนเองมีเอฟเฟ็กต์ “โบเก้” (ภาพเบลอ) ที่นุ่มนวลยิ่งขึ้นแม้ตัวแบบในโฟกัสจะมีความละเอียดสูงกว่า เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้กลุ่มนี้ Canon จึงพัฒนาเทคโนโลยีการเคลือบฟิล์มที่ใช้ไอ (vapour-deposition technology) อันเป็นเอกสิทธิ์ของตนเองขึ้นมา เทคโนโลยีนี้มีชื่อเรียกว่าการเคลือบแบบ Defocus Smoothing (DS) ซึ่งช่วยให้เลนส์สร้างเอฟเฟ็กต์โบเก้ได้สวยงามยิ่งขึ้น การเคลือบนี้ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในเลนส์ RF85mm f/1.2L USM DS การเคลือบแบบ DS ทำให้เส้นขอบในภาพมีเอฟเฟ็กต์โบเก้ที่นุ่มนวล ในขณะที่ตัวแบบในโฟกัสยังคงมีความละเอียดสูง ความเปรียบต่างสูง และยับยั้งการเกิดความคลาดสีได้ เลนส์ RF85mm f/1.2L USM DS ได้นำเอาหลักการอันสมบูรณ์แบบของเทคโนโลยีออพติคอลจาก Canon มาใช้เพื่อเพิ่มมิติใหม่ให้การถ่ายภาพด้วยโบเก้

    RF100mm f/2.8 L MACRO IS USM

    RF100mm F2.8 L MACRO IS USM เป็นเลนส์รุ่นถัดจาก EF100mm f/2.8L Macro IS USM ที่เปิดตัวไปเมื่อปี 2552 และใช้ Hybrid IS เป็นครั้งแรกของโลก เลนส์รุ่นใหม่นี้ใช้เทคโนโลยีใหม่อันล้ำสมัยเพื่อให้เลนส์มาโครมีกำลังขยายสูงสุดในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนที่ 1.4 เท่าพร้อมระยะโฟกัสใกล้สุดที่ 0.26 ม. กำลังขยายที่ระดับนี้สูงกว่ากำลังขยายสูงสุดของเลนส์มาโครทั่วไป ซึ่งโดยมากจะอยู่ที่ประมาณ 1.0 เท่า (ขนาดจริง) นอกจากนี้ RF100mm F2.8 L MACRO IS USM ยังเป็นเลนส์ Canon รุ่นแรกที่ใช้วงแหวนควบคุมความคลาดทรงกลม (SA) ด้วย เทคโนโลยีใหม่จาก Canon ที่สามารถปรับคุณสมบัติความคลาดทรงกลมได้นี้ช่วยให้การถ่ายภาพแบบมาโครมีขอบเขตความเป็นไปได้ที่เพิ่มมากขึ้น

    * หมายถึงเลนส์ AF แบบถอดเปลี่ยนได้สำหรับกล้องมิเรอร์เลสแบบฟูลเฟรม ข้อมูล ณ วันที่ 13 เมษายน 2564 จากผลการสำรวจของ Canon

    RF135mm f/1.8 L IS USM

    เลนส์พอร์ตเทรตเทเลโฟโต้ระยะกลางนี้มีกลไกป้องกันภาพสั่นไหว (ระบบ IS) ภายในตัว ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของเลนส์ทางยาวโฟกัสเดียว 135 มม.*1 เมื่อทำงานแบบประสานการควบคุมร่วมกับระบบ IS ในบอดี้ของตัวกล้อง ระบบ IS จะสามารถป้องกันภาพสั่นไหวได้เทียบเท่าความเร็วชัตเตอร์สูงสุดถึง 8.0 สต็อป*2 ค่ารูรับแสงกว้างสุดที่ F1.8 นั้นกว้างกว่าเลนส์ EF135mm f/2L USM เลนส์รุ่นนี้ไม่เพียงแต่ให้เอฟเฟ็กต์โบเก้ที่โดดเด่นยิ่งขึ้นเท่านั้น แต่การผสานการทำงานระหว่างคุณสมบัติการแก้ไขภาพเบลอจากการสั่นของกล้องอันทรงพลังและรูรับแสงกว้างสุดที่กว้างยังช่วยให้มีประสิทธิภาพที่คุณวางใจได้ขณะถ่ายภาพในสถานที่ที่ค่อนข้างมืด เลนส์รุ่นใหม่นี้สามารถถ่ายทอดภาพออกมาได้อย่างน่าทึ่งและช่วยปลดล็อกศักยภาพใหม่ให้ทุกคนที่ชื่นชอบการถ่ายภาพพอร์ตเทรต

    *1 ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2565
    *2 เมื่อใช้กล้อง EOS R3, ตามมาตรฐาน CIPA (ในทิศทางแกนยก/แกนหันเท่านั้น)

    RF10-20mm f/4L IS STM

    RF10-20mm F4 L IS USM เป็นเลนส์ซูม 10 มม. มุมกว้างอัลตร้าไวด์รุ่นแรกของโลก*1 ที่เหนือชั้นยิ่งกว่าช่วงมุมกว้างของเลนส์ EF11-24mm f/4L USM แม้จะมีทางยาวโฟกัส 10 มม. แต่เลนส์แก้ความคลาดทรงกลมและเลนส์ Ultra-low Dispersion (UD) ก็ให้คุณภาพของภาพที่สูงเทียบเท่าเลนส์ EF11-24mm f/4L USM หรืออาจจะดียิ่งกว่า เลนส์ RF10-20mm F4 L IS STM สามารถถ่ายภาพได้คมชัดและเกิดสีจางน้อยตั้งแต่กึ่งกลางภาพไปจนถึงขอบภาพ นอกจากความสามารถในการถ่ายภาพมุมกว้างอัลตร้าไวด์แล้ว เลนส์นี้ยังมีระบบป้องกันภาพสั่นไหวด้วย

    แม้จะมีช่วงมุมกว้างที่กว้างขึ้นพร้อมทั้งกลไกป้องกันภาพสั่นไหว แต่เลนส์กลับมีน้ำหนักเพียงครึ่งหนึ่งของ EF11-24mm f/4L USM เท่านั้น (เลนส์อย่างเดียว) เนื่องจากเลนส์นี้เป็นเลนส์ซีรีย์ L รุ่นแรกที่ใช้ Stepping Motor (STM) ซึ่งมีแอคทูเอเตอร์ที่เล็กกว่า Ultrasonic Motor (USM) แอคทูเอเตอร์ที่เล็กกว่าทำให้มีอิสระมากกว่าในการออกแบบเลย์เอาต์กลุ่มเลนส์ IS และทำให้สามารถวางกลไกของระบบ IS ไว้ที่ฝั่งเซนเซอร์ของเลนส์ได้ ยิ่งไปกว่านั้น RF10-20mm F4 L IS STM ยังเป็นเลนส์ Canon รุ่นแรกที่ใช้งานร่วมกับการควบคุมแบบประสานการทำงานที่ขอบภาพ*2 *3 ได้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่้งฟังก์ชั่นนี้เป็นฟังก์ชั่นที่จะแก้ไขการเบลอที่ขอบภาพที่เกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนักกับเลนส์มุมกว้าง

    *1 ข้อมูล ณ วันที่ 10 ตุลาคม 2566, สำหรับเลนส์ซูมแบบถอดเปลี่ยนได้ที่เข้ากันได้กับระบบ AF (ไม่รวมเลนส์ฟิชอาย) สำหรับกล้องแบบ SLR 35 มม. จากการศึกษาวิจัยของ Canon
    *2 มีในกล้องรุ่นที่เข้ากันได้ (EOS R5 กับเวอร์ชั่น 1.9.0 ขึ้นไป ข้อมูล ณ วันที่ 10 ตุลาคม 2566) เมื่อปิดใช้งาน Movie Digital IS
    *3 แนะนำให้ใช้ Movie digital IS ขณะถ่ายคลิปวิดีโอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต้องใช้การแพนกล้องหรือกล้องเกิดการสั่นมาก

    RF200-800mm f/6.3-9 IS USM

    เลนส์ซูมซูเปอร์เทเลโฟโต้รุ่นแรกของโลก* ที่มีความยาวของระยะเทเลโฟโต้สูงสุด 800 มม. เลนส์นี้มีประโยชน์ในการถ่ายภาพตัวแบบเช่น เครื่องบิน รถไฟ นกป่า และการแข่งขันกีฬาจากช่วงเทเลโฟโต้ ด้วยความยาวสุดฝั่งระยะต่ำที่ 200 มม. ผู้ใช้จึงมีขอบเขตในการซูมเข้าที่กว้างขึ้นโดยไม่ต้องเปลี่ยนเลนส์ เลนส์นี้สามารถถ่ายภาพต่อเนื่องระหว่างซูมเข้าได้ในขณะที่ตัวแบบกำลังเคลื่อนที่ห่างออกไปหรือเข้ามาใกล้จากระยะไกล และเลนส์นี้ยังเข้ากันได้กับอุปกรณ์ขยายระยะเลนส์ EXTENDER RF1.4x/RF2x จึงช่วยยืดระยะของช่วงเทเลโฟโต้ให้ไกลขึ้นอีก นอกจากนี้ยังรองรับการถ่ายภาพด้วยโฟกัสอัตโนมัติเมื่อใช้อุปกรณ์ขยายระยะเลนส์ที่มีทางยาวโฟกัส 1.4 หรือ 2 เท่า

    * หมายถึงเลนส์ AF แบบถอดเปลี่ยนได้สำหรับกล้องมิเรอร์เลสที่เข้ากันได้กับเซนเซอร์แบบฟูลเฟรม ซึ่งวางจำหน่ายไปเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 (จากผลการสำรวจของ Canon)

    RF24-105mm f/2.8 L IS USM Z

    ซีรีย์ 24-105mm F4 เลนส์ชิ้นเดียวที่มีช่วงทางยาวโฟกัสครอบคลุมตั้งแต่ระยะมุมกว้างไปจนถึงเทเลโฟโต้ระดับกลางเป็นเลนส์ประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมสูงสุดมาอย่างยาวนาน ก่อนเปิดตัวเลนส์รุ่นนี้ เลนส์ในกลุ่ม 24-105 มม. จะมีรูรับแสงกว้างสุดที่ f/4 แต่ RF24-105mm F2.8 L IS USM Z เป็นเลนส์รุ่นแรก* ที่มีรูรับแสงกว้างสุดคงที่ที่ f/2.8 ซึ่งทำให้สามารถถ่ายภาพด้วยรูรับแสง f/2.8 ได้แม้ที่ระยะเทเลโฟโต้ (105 มม.) จึงเหมาะสำหรับการถ่ายภาพพอร์ตเทรตที่ใช้ประโยชน์จากเอฟเฟ็กต์โบเก้ที่เด่นชัด และเลนส์รุ่นนี้ยังมีคุณภาพของภาพสูงเทียบเท่าเลนส์ RF24-70mm F2.8 L IS USM ทำให้เหมาะสำหรับการใช้งานในระดับมืออาชีพ เลนส์นี้เข้ากันได้กับ Power Zoom Adapter PZ-E2/E2B (จำหน่ายแยกต่างหาก) ซึ่งรองรับการถ่ายคลิปวิดีโอในระดับที่สูงขึ้น PZ-E2/E2B ช่วยให้ควบคุมการซูมได้อย่างแม่นยำและลื่นไหล เลนส์นี้จึงเป็นเลนส์ซูมที่เหมาะสำหรับการใช้งานเพื่อผลิตวิดีโอแทบทุกประเภท

    * หมายถึงเลนส์ AF แบบถอดเปลี่ยนได้สำหรับกล้องมิเรอร์เลสที่เข้ากันได้กับเซนเซอร์แบบฟูลเฟรมที่วางจำหน่ายไปเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 (จากผลการสำรวจของ Canon)