ถึงแม้ฟลูออไรต์จะมีคุณสมบัติทางออพติคอลอันยอดเยี่ยม แต่ต้นทุนการผลิตที่สูงทำให้ไม่เหมาะสำหรับการใช้งานทั่วไป เพื่อให้เลนส์กล้องรุ่นอื่นๆ มีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น Canon จึงพยายามผลิตกระจกเลนส์แบบใหม่ที่มีคุณสมบัติคล้ายกับฟลูออไรต์ขึ้นมา ในช่วงแรกของทศวรรษนับจากปี พ.ศ. 2513 Canon ก็ประสบความสำเร็จในการพัฒนากระจกเลนส์ Ultra-low Dispersion (UD) เมื่อเทียบกับกระจกเลนส์มาตรฐาน กระจก UD จะมีดัชนีการหักเหแสงต่ำกว่า กระจายแสงได้น้อย และมีคุณสมบัติในการกระจายแสงบางส่วนได้อย่างดีเยี่ยม ดังนั้น การใช้เลนส์ UD ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพจะให้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงกับฟลูออไรต์ การพัฒนาและนำชิ้นเลนส์ฟลูออไรต์และชิ้นเลนส์ UD ประสิทธิภาพสูงเหล่านี้มาใช้คือจุดเริ่มต้นของการผลิตเลนส์ “ซีรีย์ L” ในกลุ่มเลนส์เมาท์ FD คุณภาพสูงระดับ “Luxury” ในปี 2521
Canon พัฒนากระจกเลนส์ Super UD ในปี 2536 ซึ่งมีประสิทธิภาพดีกว่ากระจกเลนส์ UD แบบเก่า เลนส์ Super UD เพียง 1 ชิ้นสามารถใช้แทนเลนส์ UD แบบเก่า 2 ชิ้นได้และให้คุณสมบัติทางออพติคอลที่แทบจะเหมือนกับเลนส์ฟลูออไรต์ เลนส์ Super UD ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในเลนส์ EF400mm f/5.6L USM ช่วยลดความคลาดสีได้เป็นอย่างดี ทั้งยังช่วยให้เลนส์มีขนาดโดยรวมที่เล็กลงเพื่อความคล่องตัวที่มากยิ่งขึ้น ด้วยประสิทธิภาพอันโดดเด่น เลนส์ Super UD จึงกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของเลนส์ซีรีย์ L หลายรุ่น