นโยบายต่อต้านการติดสินบนและการทุจริต - Canon Thailand

บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด (“บริษัท”)
นโยบายต่อต้านการติดสินบนและการทุจริต

1.    จุดมุ่งหมายและวัตถุประสงค์

1.1    บริษัทดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีจริยธรรมและคงไว้ซึ่งความยุติธรรม บริษัทจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการติดสินบนและการทุจริตทุกรูปแบบ และต่อต้านการติดสินบนและการทุจริตไม่ว่าในกรณีใดๆ

1.2    นโยบายต่อต้านการติดสินบนและการทุจริตฉบับนี้ (“นโยบายฯ”) มีวัตถุประสงค์เพื่อ

  • ยืนยันจุดยืนของบริษัทในการต่อต้านการติดสินบนและการทุจริต
  • แสดงถึงความมุ่งมั่นของบริษัทที่จะดำเนินธุรกิจโดยปราศจากการติดสินบนและการทุจริต
  • มีผู้นำองค์กรเป็นแบบอย่างที่ดีและกำหนดพันธกิจของบริษัทในการต่อต้านการติดสินบนและการทุจริตไว้ในแนวทางปฏิบัติทางธุรกิจ
  • สื่อสารเกี่ยวกับหน้าที่ บทบาท และความรับผิดชอบที่มีร่วมกันของพนักงาน กรรมการ และพันธมิตรทางธุรกิจ (ภายในขอบเขตที่เกี่ยวข้อง) ในการตรวจหา ป้องกัน และรายงานถึงการติดสินบนและการทุจริตที่ได้เกิดขึ้น มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเกิดขึ้น หรือมีผู้พยายามก่อให้เกิดขึ้น
  • ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการติดสินบนและการทุจริต

1.3    นโยบายฯ วางหลักการพื้นฐานในการป้องกันและต่อต้านการติดสินบนและการทุจริตของบริษัท ทั้งนี้ แนะนำให้ศึกษานโยบายฯ ประกอบกับแนวปฏิบัติ กระบวนการ ขั้นตอน และนโยบายที่เกี่ยวข้องของบริษัทฉบับอื่น ๆ


2.    ขอบเขต

นโยบายฯ บังคับใช้กับพนักงาน กรรมการ และพันธมิตรทางธุรกิจทั้งหมดของบริษัท


3.    คำจำกัดความและคำย่อ

3.1    นโยบายฯ หมายถึง นโยบายต่อต้านการติดสินบนและการทุจริต

3.2    การติดสินบน หมายถึง การเสนอให้ การให้คำมั่นว่าจะให้ การให้ การตกลงที่จะให้ การยอมรับ หรือการเรียกรับผลประโยชน์ที่ไม่เหมาะสมโดยไม่คำนึงถึงมูลค่า (ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ทางการเงินหรือไม่ก็ตาม) ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม และโดยไม่คำนึงถึงสถานที่ที่เกิดขึ้น อันถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายที่ใช้บังคับ เพื่อจูงใจหรือเป็นรางวัลให้กับบุคคลที่ปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของตน 

3.3    พันธมิตรทางธุรกิจ หมายถึง บุคคลภายนอกที่บริษัทได้มี หรือวางแผนที่จะมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจในรูปแบบหนึ่งด้วย โดยอาจเป็นผู้ค้า  (Vender) ผู้ผลิต (Supplier) ผู้รับจ้าง ตัวแทน ที่ปรึกษา บริษัทร่วมทุน พันธมิตรร่วมทุน ผู้จัดจำหน่าย ตัวแทนจำหน่าย ผู้จำหน่ายต่อ ผู้ให้บริการงานภายนอก ผู้รับจ้างช่วง ที่ปรึกษา ตัวแทน ผู้ค้าคนกลาง และนักลงทุนของบริษัท และในกรณีที่เกี่ยวข้อง อาจเป็นผู้จ้างหรือลูกค้าของบริษัท

3.4    ฝ่ายกำกับดูแลการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ภายใต้การนำของฝ่าย SIA โดยปรึกษาหารือร่วมกับฝ่ายกฎหมาย

3.5    ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ คือกรณีที่ผลประโยชน์ทางธุรกิจ การเงิน ครอบครัว การเมือง หรือผลประโยชน์ส่วนบุคคลอาจมีผลต่อการตัดสินใจในการปฏิบัติหน้าที่ให้กับบริษัท ซึ่งทำให้บริษัทเสียผลประโยชน์หรือเกิดการเสียเปรียบ

3.6    การทุจริต คือการที่ผู้ใดผู้หนึ่งพยายามแสวงหาผลประโยชน์ส่วนบุคคล หรือผลประโยชน์ทางธุรกิจ ด้วยวิธีที่ไม่เหมาะสมหรือขัดต่อกฎหมาย การทุจริตสามารถจำแนกได้เป็นการทุจริตขนาดใหญ่ การทุจริตขนาดย่อย การทุจริตทางการเมือง โดยขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่สูญไปและส่วนงานที่เกิดการทุจริตนั้นขึ้น การทุจริตอาจรวมไปถึงการให้สินบน การกรรโชกทรัพย์ หรือการจ่ายเงินใต้โต๊ะ

3.7    กรรมการ หมายถึง สมาชิกของคณะกรรมการบริหาร (หรือคณะกรรมการอื่นในทำนองเดียวกัน) ของบริษัท

3.8    พนักงาน หมายถึง พนักงานของบริษัท

3.9    การจ่ายค่าอำนวยความสะดวก คือการจ่ายเงินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและ/หรืออย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งจ่ายเพื่อแลกกับบริการที่ผู้จ่ายมีสิทธิที่จะได้รับตามกฎหมายโดยไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินดังกล่าว

3.10    ฝ่ายการเงิน (FAD) หมายถึง แผนกการเงิน/บัญชีของบริษัท

3.11    สมาชิกในครอบครัว หมายถึง คู่สมรส บุตร บิดามารดา พี่น้อง หรือบุคคลอื่นใดซึ่งมีความสัมพันธ์กับพนักงานในลักษณะที่อาจส่งผลต่อการวางตัวให้เป็นกลางในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่

3.12    การรับของขวัญ  หมายถึง ของขวัญ สิ่งบันเทิง การเลี้ยงต้อนรับ การท่องเที่ยว และผลประโยชน์อื่นๆ

3.13    หัวหน้าส่วน (HOD) หมายถึง หัวหน้าส่วนงาน

3.14    ฝ่ายบุคคล (HR) หมายถึง ฝ่ายทรัพยากรบุคคลของบริษัท

3.15    คณะกรรมการบริหารทั่วไป (LBGM) หมายถึง คณะกรรมการบริหารทั่วไปของบริษัท

3.16    ฝ่ายกฎหมาย (Legal) หมายถึง ฝ่ายกฎหมายของบริษัท

3.17    ข้าราชการ หมายถึง บุคคลที่ดำรงตำแหน่งทางนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการ ไม่ว่าจะโดยการแต่งตั้ง การเลือกตั้ง หรือการสืบทอด หรือบุคคลใดๆ ที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ซึ่งรวมไปถึงหน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าหน้าที่หรือตัวแทนขององค์กรมหาชนในประเทศหรือระหว่างประเทศ หรือผู้สมัครเข้ารับตำแหน่งทางราชการใดๆ

3.18    ฝ่ายตรวจสอบภายในเชิงกลยุทธ์ (SIA) หมายถึง ฝ่ายตรวจสอบภายในเชิงกลยุทธ์ของบริษัท

3.19    ประธาน (PCEO) หมายถึง ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท


4.    ข้อความชี้แจงการต่อต้านการติดสินบน

4.1    บริษัทต่อต้านการติดสินบนหรือการทุจริตทุกรูปแบบ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ทั้งนี้ โดยไม่คำนึงว่าการกระทำดังกล่าวจะเกิดขึ้น ณ ที่ใด ดังนั้นจึงครอบคลุมไปถึงการกระทำซึ่งอาจถือเป็นการติดสินบนหรือการทุจริตอันขัดต่อกฎหมายของประเทศที่บริษัทดำเนินธุรกิจอยู่ โดยไม่ต้องพิจารณาว่าการกระทำดังกล่าวนั้นเป็นที่ยอมรับในฐานะหลักปฏิบัติทางธุรกิจหรือไม่

4.2    ห้ามไม่ให้พนักงาน กรรมการ และพันธมิตรทางธุรกิจเรียกร้อง รับ จัดหา เสนอให้ หรือให้สินบน ไม่ว่าในรูปแบบใด ๆ และบุคคลดังกล่าวทั้งหมดจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศที่เข้าไปดำเนินธุรกิจอยู่

4.3    หากพบว่าพนักงานหรือกรรมการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการติดสินบนและการทุจริต นโยบายฯ หรือนโยบายฉบับอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการติดสินบนและการทุจริตของบริษัท ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม พนักงานหรือกรรมการดังกล่าวจะต้องถูกดำเนินการทางวินัย ซึ่งรวมไปถึง แต่ไม่จำกัดเพียง การเลิกจ้าง

4.4    หากพบว่าพันธมิตรทางธุรกิจฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการติดสินบนและการทุจริต นโยบายฯ หรือนโยบายฉบับอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการติดสินบนและการทุจริตของบริษัท ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม พันธมิตรทางธุรกิจดังกล่าวจะต้องได้รับโทษตามสมควร ซึ่งรวมถึง แต่ไม่จำกัดเพียง การยุติความสัมพันธ์ทางธุรกิจ


5.    ฝ่ายกำกับดูแลการปฏิบัติตามกฎระเบียบ

5.1    ฝ่ายกำกับดูแลการปฏิบัติตามกฎระเบียบมีหน้าที่ดูแลเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการติดสินบนและการทุจริตภายในบริษัท

5.2    ขอบเขตหน้าที่ของฝ่ายกำกับดูแลการปฏิบัติตามกฎระเบียบมีดังนี้

  • การสืบสวนหรือการจัดให้มีการสืบสวนตามข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการติดสินบนหรือการทุจริต (ซึ่งรวมไปถึงการแจ้งเบาะแส)
  • การส่งข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการติดสินบนและการทุจริตไปยังผู้บริหารระดับสูงตามความเหมาะสม
  • การติดตามตรวจสอบว่าบุคลากรได้ยึดถือและปฏิบัติตามนโยบายฯ และระเบียบวิธีเกี่ยวกับการต่อต้านการติดสินบนและการทุจริต เพื่อดูแลให้เกิดความเข้าใจและส่งเสริมจุดยืนของบริษัทตามบทบาทและหน้าที่ของตน
  • การประเมินความเสี่ยงเป็นระยะ เพื่อประเมิน ทดสอบ และปรับปรุงกระบวนการ นโยบาย และระเบียบวิธีการต่อต้านการติดสินบนและการทุจริต
  • การทำงานร่วมกับฝ่ายธุรกิจต่างๆ ภายในบริษัท เพื่อแก้ไข ปรับปรุง และเยียวยาข้อบกพร่อง ผ่านนโยบายและระเบียบวิธีต่างๆ อย่างรวดเร็ว
  • การให้ความรู้ ตลอดจนคำปรึกษา เกี่ยวกับนโยบายและระเบียบวิธีว่าด้วยการต่อต้านการติดสินบนของบริษัทแก่พนักงาน
  • การจัดการตรวจสอบกรอบการทำงานในการต่อต้านการติดสินบนและการทุจริตภายในและ/หรือภายนอกบริษัทตามสมควร
  • การดำเนินการลงโทษทางวินัยในกรณีที่มีการฝ่าฝืนนโยบายและระเบียบวิธีว่าด้วยการต่อต้านการติดสินบนและการทุจริตของบริษัท ในลักษณะที่สอดคล้องกับนโยบายเกี่ยวกับการลงโทษทางวินัย

6.    ความขัดแย้งทางผลประโยชน์

6.1    บริษัทคาดหวังว่า พนักงาน กรรมการ และพันธมิตรทางธุรกิจจะไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการขัดต่อผลประโยชน์ของบริษัท เมื่อตนได้เป็นตัวแทนของบริษัทในการติดต่อดำเนินการหรือทำธุรกรรมใดๆ

6.2    ความขัดแย้งทางผลประโยชน์มิได้ถือเป็นการทุจริตรูปแบบหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งทางผลประโยชน์อาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการติดสินบนหรือการทุจริตได้ ดังนั้น พนักงาน กรรมการ และพันธมิตรทางธุรกิจควรใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่มีหรือคาดว่าจะเกิดขึ้น พนักงานควรแจ้งถึงความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่มีหรืออาจเกิดขึ้นตามนโยบาย ขั้นตอน และแบบฟอร์มของบริษัท ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่ควรแจ้งให้กับทางบริษัททราบนั้นรวมถึงในกรณีที่พนักงาน กรรมการ หรือพันธมิตรทางธุรกิจ หรือสมาชิกในครอบครัวมีผลประโยชน์ส่วนบุคคลหรือผลประโยชน์ทางการเงินทับซ้อนในการทำธุรกรรมที่นอกเหนือไปจากการตกลงหรือข้อตกลงที่ทำขึ้นอย่างเป็นทางการกับบริษัท


7.    การจ่ายค่าอำนวยความสะดวก

ห้ามมิให้มีการจ่ายค่าอำนวยความสะดวกโดยเด็ดขาด


8.    ของขวัญ สิ่งบันเทิง การเลี้ยงต้อนรับ การท่องเที่ยว และผลประโยชน์อื่นๆ

8.1    การเสนอว่าจะให้ การให้ หรือการรับของขวัญจะต้องเป็นไปตามนโยบายและขั้นตอนที่เกี่ยวข้องของบริษัท

8.2    พันธมิตรทางธุรกิจควรใช้ความระมัดระวังเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาตระหนักถึงนโยบายและขั้นตอนของบริษัทอันเกี่ยวข้องการให้ของขวัญ ซึ่งรวมไปถึงในกรณีที่พวกเขาให้ของขวัญแก่พนักงานหรือกรรมการ และในกรณีที่ได้รับของขวัญในฐานะพันธมิตรทางธุรกิจ

8.3    ใช้ความระมัดระวังเพื่อไม่ให้มีการให้หรือรับของขวัญใดๆ ซึ่งรวมไปถึงการให้และการรับจากสมาชิกในครอบครัวที่มีอิทธิพล หรืออาจมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจทางธุรกิจที่ควรจะต้องเป็นกลางและเป็นไปอย่างยุติธรรม การให้ของขวัญที่อาจดูมีผลต่อการตัดสินใจทางธุรกิจมักเป็นการให้ของขวัญที่มีลักษณะฟุ่มเฟือย หรือเกินกว่ามารยาททางธุรกิจทั่วไป


9.    การบริจาคและการสนับสนุน

9.1    การบริจาคและการสนับสนุน ซึ่งรวมไปถึงการบริจาคที่เป็นไปโดยหน้าที่ตามหลักความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร หรือทุนการศึกษาในนามของบริษัท จะต้องเป็นไปตามนโยบายที่เกี่ยวข้องของบริษัท

9.2    โดยทั่วไปแล้ว ให้ปฏิบัติดังนี้ 

  • มีวัตถุประสงค์และข้อความชี้แจงเหตุผลที่แท้จริงในการบริจาคหรือการสนับสนุน
  • ต้องได้รับการอนุมัติตามสมควร
  • ดำเนินการตรวจสอบเพื่อมิให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์เมื่อทำการบริจาคหรือสนับสนุน
  • ทำการตรวจสอบอย่างรอบคอบก่อนให้เงินบริจาคหรือเงินสนับสนุนเพื่อให้แน่ใจว่าการกระทำดังกล่าวมิได้ถือเป็นการติดสินบนรูปแบบหนึ่ง ในการตรวจสอบนั้น ควรประกอบไปด้วยการตรวจสอบตัวตนและชื่อเสียงของผู้รับเงินบริจาค
  • ดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องเพื่อให้แน่ใจว่าการบริจาคต่างๆ นั้นชอบด้วยกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะมีการบริจาคหรือสนับสนุนใดๆ
  • แสดงรายการบริจาคและการสนับสนุนไว้ในบัญชีของบริษัท ซึ่งรวมไปถึงหลักฐานการจัดกิจกรรมหรือรายการสินค้าที่ทำการสนับสนุน

9.3    บันทึกข้อสงสัยหรือข้อกังวลที่เกิดขึ้น และส่งเรื่องไปยังฝ่ายกำกับดูแลการปฏิบัติตามกฎระเบียบโดยทันทีเพื่อดำเนินการขั้นต่อไป


10.    การชำระเงินและค่าธรรมเนียม

10.1    ค่าคอมมิชชัน ค่าแนะนำ ส่วนลด หรือการชำระเงินหรือผลประโยชน์อื่น ๆ ในทำนองเดียวกันต้องเป็นไปตามข้อกำหนดและเงื่อนไขในการจ้างงานกับบริษัท ข้อกำหนดในการทำธุรกิจกับพันธมิตรทางธุรกิจ และ/หรือนโยบายและขั้นตอนภายใน (ตามที่อาจมีประกาศใช้บังคับ)

10.2    การชำระเงินดังกล่าวจะต้องแสดงไว้อย่างถูกต้องในบัญชีที่ทางฝ่ายการเงินดูแล

10.3    ห้ามไม่ให้พนักงาน กรรมการ และพันธมิตรทางธุรกิจ หารายได้จากการปฏิบัติหน้าที่ให้กับทางบริษัท


11.    การจัดซื้อจัดจ้าง

11.1    การจัดซื้อจัดจ้างจะดำเนินการตามนโยบายและขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างของบริษัท

11.2    ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งภายใต้การควบคุมของบริษัท ให้ปฏิบัติตามหลักการทั่วไป ดังนี้

  • ดำเนินการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะ (Due Diligence) ก่อนที่จะเพิ่มรายชื่อของพันธมิตรทางธุรกิจเข้าไปในรายชื่อคู่ค้าที่ได้รับการอนุมัติ เพื่อรับรองว่าพันธมิตรทางธุรกิจรายดังกล่าวมีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุด มีนโยบายต่อต้านการติดสินบนและการทุจริตที่มีความเหมาะสม และไม่เคยต้องโทษหรือมีข้อกล่าวหาจากการติดสินบนหรือการทุจริต
  • ตรวจสอบความถูกต้องและทำการติดตามเป็นระยะ และ
  • ดำเนินการขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และปราศจากอคติ และไม่ให้ผู้ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการคัดเลือก

11.3    สำหรับประเด็นที่อยู่นอกเหนือขอบเขตของนโยบายและขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง ให้หัวหน้าส่วนและฝ่ายการเงินเข้ามาตรวจสอบการคัดเลือกพันธมิตรทางธุรกิจตามสมควร เพื่อดูแลว่าทางบริษัทได้รับเอกสารประกอบการชำระเงินที่มีความถูกต้องและเหมาะสมกับการทำงานดังกล่าว นอกจากนี้ยังควรมีการตรวจสอบเพื่อยืนยันว่าการคัดเลือกดังกล่าวนั้นปราศจากความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ธุรกิจและบริการของผู้เข้ารับการคัดเลือกนั้นชอบด้วยกฎหมาย และผู้เข้ารับการคัดเลือกมิได้มีข้อกล่าวหาหรือต้องโทษจากการติดสินบนและการทุจริต 


12.    การติดต่อกับหน่วยงานภายนอก

12.1    การติดต่อกับหน่วยงานภายนอกบริษัท อาทิ หน่วยงานกำกับดูแล หรือพันธมิตรทางธุรกิจ จะต้องดำเนินการในลักษณะที่มีความโปร่งใส เป็นกลาง และปราศจากอิทธิพลจากภายนอก

12.2    ฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องทำการติดตามพันธมิตรทางธุรกิจ การทำธุรกรรม หรือโครงการต่าง ๆ เป็นระยะเพื่อตรวจสอบด้านการติดสินบนและการทุจริต พนักงานจะต้องสื่อสารและจัดการอบรมให้กับพันธมิตรทางธุรกิจที่ทำงานให้กับทางบริษัทอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพันธมิตรที่รับผิดชอบในส่วนที่ต้องติดต่อกับหน่วยงานกำกับดูแล ในกรณีที่เป็นไปได้ ควรขอบันทึกการประชุม/บันทึก/รายงานการติดต่อระหว่างพันธมิตรทางธุรกิจกับหน่วยงานกำกับดูแล

12.3    พันธมิตรทางธุรกิจจะต้องให้ความร่วมมือกับบริษัท เพื่อรับรองว่าพันธมิตรทางธุรกิจจะปฏิบัติตามข้อผูกพันในการต่อต้านการติดสินบนและการทุจริต โดยทั่วไปแล้ว พันธมิตรทางธุรกิจจะต้องดำเนินการดังนี้

  • จัดทำบันทึกการประชุมและบันทึกการหารือ หรือการสื่อสารกับหน่วยงานกำกับดูแลและบุคคลภายนอกอื่น ๆ อย่างถูกต้องและเป็นปัจจุบัน
  • ให้ความร่วมมือเมื่อทางบริษัทร้องขอเอกสารเพิ่มเติม ซึ่งรวมไปถึง แต่ไม่จำกัดเพียงข้อกำหนดเกี่ยวกับการต่อต้านการติดสินบน
  • ศึกษา ทำความเข้าใจ และปฏิบัติตามนโยบายและระเบียบวิธีของบริษัทอันเกี่ยวข้องกับการต่อต้านการติดสินบนและการทุจริต ซึ่งรวมไปถึง แต่ไม่จำกัดเพียง การให้และการรับของขวัญ
  • แจ้งให้บริษัททราบถึงความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้นโดยทันที
  • แสดงจุดยืน ค่านิยม และมาตรฐานของบริษัทในการต่อต้านการติดสินบนและการทุจริตเมื่อเป็นตัวแทนหรือกระทำการในนามของบริษัท
  • ปฏิบัติตามกฎหมายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการติดสินบนและการทุจริตในขอบเขตที่บังคับใช้กับตนหรือบริษัท
  • รายงานปัญหาและเปิดเผยถึงการฝ่าฝืนข้อกำหนดว่าด้วยมาตรการต่อต้านการติดสินบนและการทุจริตที่เกิดขึ้น มีผู้พยายามก่อให้เกิดขึ้น หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเกิดขึ้นโดยทันที
  • กำหนดและบังคับใช้มาตรการป้องกันและการควบคุมภายในเพื่อจัดการและป้องกันการติดสินบนและการทุจริต และ
  • สื่อสารเกี่ยวกับข้อกำหนดว่าด้วยการต่อต้านการติดสินบนและการทุจริตของบริษัทให้กับพนักงานและตัวแทนของตน

13.    การว่าจ้างหรือการคัดเลือกพนักงาน

13.1    ในการบริหารจัดการพนักงาน ฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะต้องดำเนินการต่อไปนี้

  • ต้องกำหนดเงินเดือน โบนัส ผลตอบแทนพนักงาน หรือผลประโยชน์ใดๆ ไว้อย่างยุติธรรม โปร่งใส และโดยไม่ขึ้นอยู่กับผู้ใด
  • ดำเนินการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะก่อนที่จะปรับตำแหน่งหรือโอนย้ายพนักงาน เพื่อให้แน่ใจว่าพนักงานดังกล่าวมิได้มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม 
  • จัดการการฝ่าฝืนกฎหมาย นโยบาย ขั้นตอน หรือข้อกำหนดการจ้างงานที่เกิดขึ้นอย่างโปร่งใส

13.2    การคัดเลือกพนักงานจะต้องดำเนินการตามนโยบายของบริษัท กระบวนการภายใน และขั้นตอนอันเกี่ยวข้องกับการคัดเลือกพนักงาน รวมถึงให้ปฏิบัติดังนี้ 

  • ตรวจสอบประวัติผู้สมัครว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนและเหมาะสมกับตำแหน่งที่เปิดรับมากที่สุด และไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการติดสินบนหรือการทุจริตไม่ว่าในรูปแบบใด
  • ในการคัดเลือกนั้น ผู้คัดเลือกจะต้องตัดสินใจอย่างเป็นอิสระ โดยจะต้องเปิดเผยถึงความขัดแย้งทางผลประโยชน์และแก้ปัญหาดังกล่าวก่อนจะเข้าสู่กระบวนการคัดเลือก
  • เปิดเผยถึงความขัดแย้งทางผลประโยชน์หรือปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในการคัดเลือกพนักงานใหม่ โดยจะต้องชี้ถึงและ/หรือแก้ไขปัญหาก่อนที่จะว่าจ้างบุคคลดังกล่าว 

14.    การแจ้งเบาะแสและการร้องเรียนเกี่ยวกับการฝ่าฝืนกฎหมายหรือนโยบายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง

14.1    ให้รายงานการฝ่าฝืนนโยบายฯ หรือการฝ่าฝืนนโยบายและระเบียบของบริษัทอันเกี่ยวข้องกับการติดสินบนและการทุจริตที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเกิดขึ้น มีผู้พยายามก่อให้เกิดขึ้น หรือที่ได้เกิดขึ้น ผ่านช่องทางร้องเรียนโดยไม่เปิดเผยตัวตนที่ www.ethicspoint.com


15.    การควบคุมอื่นๆ

15.1    บริษัทมีระบบควบคุมทั้งทางการเงินและที่ไม่ใช่ทางการเงิน เพื่อตรวจจับและป้องกันการติดสินบนและการทุจริต

15.2    นโยบายและระเบียบต่างๆ ควรประกอบด้วยมาตรการควบคุมดังนี้

  • การกำหนดให้มีผู้ลงนามอนุมัติหลายรายในการทำธุรกรรมบางประเภท
  • การแบ่งหน้าที่และอำนาจในการอนุมัติ และ
  • การจำกัดอำนาจในการอนุมัติการสั่งจ่าย

16.    การอบรมและการสื่อสาร

บริษัทตระหนักถึงความสำคัญในการทำให้ตัวแทนของบริษัททุกรายรับรู้ถึงจุดยืนในการต่อต้านการติดสินบนและการทุจริต ตลอดจนข้อผูกพันที่มีอยู่ 

16.1    พนักงานและกรรมการทุกรายจะต้องสามารถเข้าถึงนโยบายและระเบียบต่าง ๆ ได้ พนักงานจะต้องศึกษาและทำความเข้าใจเนื้อหาทั้งหมด รวมถึงที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม

16.2    ทางบริษัทจะจัดการฝึกอบรมเกี่ยวกับนโยบายและระเบียบวิธีในการต่อต้านการติดสินบนของบริษัทเป็นระยะ


17.    การจัดเก็บบันทึกข้อมูลอย่างเหมาะสม

17.1    บริษัทกำหนดให้มีการจัดทำบันทึกข้อมูลที่มีความถูกต้อง รวดเร็ว และน่าเชื่อถือ โดยฝ่ายงานที่มีหน้าที่ดูแลเอกสารจะเป็นผู้จัดเก็บเอกสารภายในของบริษัทตามขั้นตอนที่กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ขั้นตอนดังกล่าวมีไว้เพื่อรับรองว่าจะมีการเก็บรักษาบันทึกทั้งหมดไว้อย่างปลอดภัย ถูกต้อง และสามารถตรวจสอบได้

17.2    ข้อมูลต่อไปนี้ต้องเก็บรักษาตามหลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลของบริษัทหรือตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่ว่าระยะเวลาตามหลักเกณฑ์ใดจะยาวนานกว่า

  • นโยบาย กระบวนการและขั้นตอนการต่อต้านการติดสินบนและการทุจริต
  • ข้อตกลงและประกาศต่าง ๆ อาทิ การเปิดเผยความขัดแย้งทางผลประโยชน์
  • การแจ้งเบาะแส
  • เอกสารเกี่ยวกับการสืบสวน
  • การตรวจสอบความขัดแย้งทางผลประโยชน์และการต่อต้านการติดสินบนและการทุจริต
  • เอกสารการฝึกอบรมและการสื่อสาร และใบลงนามผู้เข้าร่วม และ
  • ใบแจ้งหนี้ ใบเสร็จรับเงิน การอนุมัติ บันทึกการประชุม และเอกสารเกี่ยวกับการชำระเงิน

 

ปรับปรุงข้อมูลและอนุมัติล่าสุด : 12 กันยายน 2567