เทคนิค ถ่ายรูป - เทคนิคการถ่ายภาพ dslr เคล็ดลับการใช้กล้อง EOS (EOS tips) - Canon Thailand

สนุกไปกับ EOS ของคุณ เข้าร่วมการอบรม, กิจกรรม, ดาวน์โหลดและเรียนรู้เคล็ดลับ

คุณสามารถลงทะเบียนเข้ารับการฝึกอบรมการใช้กล้องดิจิตอล EOS กับเราได้แล้ววันนี้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด เพื่อที่คุณจะได้สามารถใช้ฟังก์ชั่นที่สำคัญต่างๆในกล้องของคุณได้ภายในเวลาเพียงสองชั่วโมง

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่เพิ่งจะเริ่มถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตอลซิงเกิ้ลเลนส์ เราพร้อมแล้วที่จะพาคุณไปสัมผัสประสบการณ์การถ่ายภาพอีกขั้นหนึ่ง และค้นพบความสนุกที่รอคุณอยู่

  • ตอนที่ 1: กล้องดิจิตอลซิงเกิ้ลเลนส์ ง่ายและสนุก (บทนำ)
  • ตอนที่ 2: การใช้ฟังก์ชั่นต่างๆของกล้องเพื่อให้ได้ภาพที่ดียิ่งกว่า (การประยุกต์ใช้งานจริง)
  • ตอนที่ 3: การเลือกเลนส์เพื่อการถ่ายภาพแนวต่างๆ (เลนส์แบบเปลี่ยนได้)
  • ตอนที่ 4: การพิมพ์ภาพ
  • นิยาม​​​


ลงทะเบียนอบรมการใช้งาน

ดาวน์โหลดไฟล์ Picture Style เพื่อปรับภาพให้ได้ลุคต่างๆที่หลากหลาย คุณสามารถเลือก Picture Style ต่างๆได้ อาทิ Standard (มาตรฐาน), Portrait (บุคคล), Landscape (ทิวทัศน์), Neutral (โทนกลาง), Faithful (สีจริง) และ Monochrome (ขาวดำ)

ทุกครั้งที่เดินทางขอให้ทุกท่านยึดถือคติของลูกเสือที่ว่า "จงเตรียมพร้อม" ไว้เป็นอย่างดี เพราะต่อให้คุณมีอุปกรณ์ที่ยอดเยี่ยมแค่ไหนก็ไม่สามารถถ่ายภาพดวงอาทิตย์กำลังขึ้นมาหลังยอดเขาได้ หากแบตเตอรี่คุณหมดหรือเมโมรี่การ์ดของคุณเต็ม อย่าลืมเตรียมไปเผื่อไว้ด้วย หากคุณยอมลงทุนซื้อเมโมรี่การ์ดเพิ่มก็จะเป็นการดี เพื่อที่คุณจะได้ภาพความละเอียดสูงและไม่พลาดโอกาสในการถ่ายช็อทสำคัญๆเช่นนี้

ถึงคุณต้องถ่ายภาพด้วยการใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำๆโดยไม่มีสายลั่นชัตเตอร์ก็ไม่ใช่ปัญหา คุณสามารถถ่ายได้โดยที่ภาพไม่สั่นเพียงตั้งกล้องไว้บนขาตั้งและสั่งให้กล้องลั่นชัตเตอร์ตามเวลาที่ต้องการ เมื่อคุณไม่ต้องจับกล้อง ก็ไม่เสี่ยงที่จะทำให้กล้องสั่น กล้องดิจิตอลซิงเกิ้ลเลนส์ของแคนนอนมีตัวเลือกในการตั้งเวลาชัตเตอร์ที่ 2 วินาทีด้วย คุณจึงสามารถถ่ายภาพหมู่ที่มีทุกคนพร้อมหน้าได้โดยไม่ต้องรอ 10 วินาทีเหมือนแต่ก่อนอีกต่อไป และกล้องคอมแพคดิจิตอลของแคนนอนก็สามารถตั้งเวลาลั่นชัตเตอร์ได้เต็มที่เช่นกัน 

แม้คนส่วนใหญ่จะเชื่อกันว่าอย่างไร แต่จริงๆแล้วมิเตอร์วัดแสงในตัวกล้องคุณไม่ควรเป็นปัจจัยหลักในการวัดว่าภาพควรจะสว่างหรือมืดเท่าใด ภาพวันแดดจ้าอาจดูสีสดใสกว่าเดิมหากถ่ายให้อันเดอร์สัก 1½- 2 สต็อป (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการใช้ฟิลเตอร์/โพลาไรเซอร์) และภาพบางภาพอาจดูสดใสขึ้นหากถ่ายให้โอเวอร์อีกสักหน่อย อารมณ์ของภาพสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามระดับความสว่าง แต่สุดท้ายแล้วหากตัดใจเลือกไม่ได้ก็สามารถทำการแบร็คเก็ตโดยถ่ายภาพเดียวกันหลายๆช็อทโดยให้ระดับแสงในแต่ละภาพแตกต่างกัน (แสงพอดี โอเวอร์และอันเดอร์) เปรียบเทียบทั้งสามภาพแล้วเลือกภาพที่คุณถูกใจที่สุด กล้องดิจิตอล EOS แบบซิงเกิ้ลเลนส์ของแคนนอนทุกรุ่นมีฟังก์ชั่นการชดเชยแสงที่ช่วยให้คุณถ่ายแบร็คเก็ตได้โดยสะดวก

บางครั้งภาพที่เบลออย่างสร้างสรรค์ก็สามารถสื่อสารได้ดียิ่งกว่า คุณสามารถเลือกใช้ความเบลอได้สองแบบหลักๆด้วยกัน ได้แก่ เบลอด้วยระยะชัดตื้นและเบลอด้วยการเคลื่อนไหว หากคุณเปิดรูรับแสงให้กว้างเพื่อให้ได้ระยะชัดตื้น (เอฟสต็อป 4 ถึง 1.4 จะดีมาก) ฉากหลังจะเบลออย่างนุ่มๆน่ามองเพื่อให้วัตถุที่ต้องการถ่ายลอยเด่นอยู่ด้านหน้า หรือหากจะให้เบลอด้วยการเคลื่อนไหวก็เพียงตั้งความเร็วชัตเตอร์ให้ต่ำเข้าไว้ วัตถุที่คุณถ่ายจะได้เคลื่อนไหวเป็นสายเหมือนปลายภู่กันที่วาดไปตามจังหวะอยู่ต่อหน้ากล้องของคุณ นี่คืออีกหนึ่งเหตุผลว่าทำไมคนเราถึงหลงใหลในความยืดหยุ่นและความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดได้จากการควบคุมรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ในกล้องดิจิตอลซิงเกิ้ลเลนส์

วิธีหนึ่งในการถ่ายภาพให้น่าสนใจได้ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ใดก็คือการเล่นกับเส้นสาย ลวดลายและพื้นที่ว่างที่เกิดจากสิ่งที่อยู่รอบตัวคุณ ชนิดที่เรียกได้ว่าสร้างผลงานวิจิตรทั้งๆที่ไม่มีอะไรเลย ในไม่ช้าคุณจะเริ่มมองเห็นความเป็นไปได้ในการจัดองค์ประกอบภาพให้น่าสนใจ ถ้ารายละเอียดในสิ่งที่คุณเห็นอยู่เบื้องหน้ายังไม่น่าสนใจให้ลองหรี่ตาดูเพราะการทำเช่นนี้มักจะช่วยให้ส่วนที่ไม่น่าสนใจหลุดออกไปจากสายตาได้ และให้เริ่มโดยการจัดองค์ประกอบภาพอย่างง่ายๆแต่ได้อารมณ์ก่อน นอกจากนี้การเลือกใช้สีสันเข้มๆและเส้นสายที่ชัดเจนก็ดีกว่ารายละเอียดที่เป็นโทนสีกลางๆผสมปนเปกัน

การถ่ายภาพให้ได้น่าสนใจที่จริงไม่ใช่เรื่องยากหากเพียงคุณพยายามหามุมแปลกๆอีกสักหน่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามสถานที่ต่างๆที่มีคนถ่ายกันไปเยอะแล้ว เช่นหากคุณไม่ต้องการได้ภาพชายหาดเหมือนในโปสการ์ดทั่วไปก็เพียงย่อตัวลงมาถ่ายจากระดับเลียดเม็ดทรายหรือปีนขึ้นบนต้นไม้เพื่อถ่ายภาพในมุมสูงๆ หรือหากจะถ่ายย้อนจากน้ำขึ้นมาก็ย่อมทำได้เสมอ ฟังก์ชั่นออโต้โฟกัส Live View ของแคนนอนช่วยให้คุณสามารถถ่ายภาพจากมุมแปลกๆได้โดยที่คุณไม่ต้องลำบาก อีกหนึ่งลูกเล่นดีๆที่ไม่ยากคือการถ่ายภาพผ่านแก้วน้ำดื่มหรือหน้าต่าง และการมองหาภาพสะท้อนของวัตถุที่คุณต้องการถ่ายในน้ำ กระจกเงาและสิ่งที่สะท้อนแสงได้อื่นๆเป็นต้น

คุณอาจยังนึกไม่ถึงว่าเวลาเรามองภาพคน สัตว์หรือรูปปั้นที่ใบหน้า ส่วนใหญ่แล้วคุณจะมองไปที่ดวงตาก่อน ถ้าตาคมเราก็จะรู้สึกว่าอารมณ์ของภาพดูสบายๆแม้ว่าโฟกัสจะดูเบลอไปบ้างแต่โดยรวมของภาพก็จะยังดูคมอยู่ ดังนั้นเวลาคุณถ่ายภาพก็ควรจะพยายามให้ตาของแบบโฟกัสคมกริบเสมอ แต่ก็อย่าลืมว่าการถ่ายภาพบุคคลนั้นไม่ได้มีแต่เพียงการถ่ายใบหน้า แต่คุณยังสามารถถ่ายภาพซิลลูเอทที่เปี่ยมความหมาย ถ่ายโคลสอัพมือทั้งสองหรือจะถ่ายภาพบุคคลจากทางด้านหลังก็สามารถทำได้เช่นกัน

เรื่องฉากหลังในการถ่ายภาพบุคคลนั้นหลักพื้นฐานเลยก็คือการทำให้เกลี้ยงและไม่วุ่นวายเอาไว้ก่อน พยายามหาจุดที่ด้านหลังไม่รกหรือแขวนผ้าสีเรียบๆสักผืนเป็นแบ็คดร็อปเพื่อให้แบบของคุณเป็นสิ่งที่ดึงดูดสายตาในรูปอย่างที่ควรจะเป็น แต่ถ้าคุณอยู่ในบริเวณที่มองไปทางใดก็มีแต่ฉากหลังที่วุ่นวายและรกรุงรังก็สามารถเปิดรูรับแสงให้กว้างที่สุดช่วยได้ Tristan Lim หนึ่งในผู้ท้าชิง Playtime ใช้เลนส์แคนนอน EF 85mm f/1.8 USM และ EF 70-200mm f/2.8L USM เพื่อให้ได้ระยะชัดตื้นที่สุด ให้แม้แต่ฉากหลังที่วุ่นวายที่สุดเบลอละลายหายไปได้จนแบบที่ต้องการถ่ายปรากฏให้เห็นเด่นชัด เลนส์ EF ของแคนนอนออกแบบมาเพื่อระบบ EOS โดยเฉพาะ มีเลนส์กล้อง 35 มม.ที่จัดอยู่ในกลุ่มที่สว่างที่สุดในโลกด้วยคือเลนส์ EF 50mm f/1.2L USM ที่ใครๆก็ยกย่อง เพราะสามารถเปิดรูรับแสงได้กว้างถึง f/1.2 ไม่ว่าฉากหลังจะวุ่นวายเพียงใดก็เอาอยู่

ถ้าสภาพแสงได้แล้วโอกาสเกิดภาพสวยก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม โดยปกติแล้วแสงนุ่มๆจะช่วยให้ถ่ายภาพบุคคลได้งามที่สุด นั่นเป็นเพราะว่าแสงแข็งๆ (อย่างเช่นแสงเวลาเที่ยงวัน) จะทำให้เกิดเงาที่ไม่น่าดูบนใบหน้าของแบบ หรือหากคุณต้องการเน้นให้เห็นความลึกและมิติก็สามารถให้แสงเข้าวัตถุจากทางด้านข้างหรือทำมุม 45 องศา การจัดให้แบบอยู่ข้างหน้าต่างในช่วงเช้าหรือบ่ายแก่ๆให้แสงแดดลอดผ่านเข้ามาก็มักจะได้ผลดีอย่างเหลือเชื่อเช่นกัน ในกรณีที่คุณถ่ายภาพกลางแจ้งก็อย่าลืมใช้แฟลชด้วย (แม้ว่าแดดจะจ้าก็ตาม) เพราะจะช่วยให้ภาพของคุณดูแจ่มขึ้นอย่างมากและมีประกายบนดวงตา แต่ถ้าคุณไม่อยากใช้แฟลชจริงๆหรือเกรงว่าแบบจะรำคาญแฟลช ให้ตัวคุณเองสวมชุดขาวก่อนออกไปถ่ายภาพเพื่อที่จะได้ทำหน้าที่เป็นรีเฟลคเตอร์ในตัวคอยสะท้อนแสงฟิลไลท์อ่อนๆเข้าตัวแบบก็ได้เช่นกัน

หากว่าใครรู้สึกไม่อึดอัดแล้วก็ย่อมเป็นแบบถ่ายภาพได้อย่างดียิ่งขึ้น ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่คุณจะต้องทำตัวน่ารัก สุภาพ เข้าใจความรู้สึกและพยายามอำนวยความสะดวกตามที่แบบต้องการ พยายามเข้าถึงแบบด้วยการสบตาและชวนคุย ให้แบบได้หัวเราะบ้างจนความอบอุ่นสื่อผ่านทางภาพได้ในที่สุด คุณสามารถใช้เลนส์เทเลได้หากคุณอาย ประหม่าหรืออยากจะถ่ายแคนดิดจากระยะไกลมากกว่า แต่อย่าใช้เลนส์เทเลเป็นผ้าคลุมล่องหน อย่าทำกับแบบเหมือนว่าเขาเป็นเพียงวัตถุ ตรงจุดนี้เราต้องให้ความเคารพกันด้วยโดยเฉพาะเวลาถ่ายภาพบุคคลที่เราไม่รู้จัก ขณะเดินทางไปยังที่ต่างๆ อย่าทำตัวแอบๆแปลกๆคอยส่องกล้องออกมาจากมุมตึกอย่างนั้น ขอเพียงแค่คุณยิ้มแล้วโลกก็จะยิ้มไปกับคุณด้วยเอง

แม้ว่าคุณจะกำลังถ่ายภาพบุคคลกลางแจ้งในวันที่แดดจ้าก็อย่าลืมใช้แฟลชด้วย เพราะฟิลแฟลชสามารถช่วยลดซิลลูเอทในฉากย้อนแสง ทำให้เกิดประกายในดวงตาของแบบและทำให้แบบดูแจ่มมีมิติขึ้นมาได้ กล้องคอมแพคของแคนนอนส่วนมากมีฟังก์ชั่นฟิลแฟลชในตัวอยู่แล้ว หากมีแฟลชเสริมภายนอกที่ไม่มีฟังก์ชั่นฟิลแฟลชอัตโนมัติคุณก็สามารถตั้งค่า ISO ของแฟลชให้เป็นสองเท่าของกล้องแล้วปรับค่ารูรับแสงของทั้งบนกล้องและบนแฟลชให้เท่ากันก็เป็นอันเสร็จพิธี

การถ่ายภาพด้วยเลนส์เทเลโฟโต้ยาวๆสามารถทำให้ภาพสั่นได้หากถือกล้องไม่ดี เพราะในเมื่อขนาดของวัตถุถูกขยายให้ใหญ่ขึ้นอาการสั่นไหวของกล้องใดๆก็จะรุนแรงขึ้นเป็นสัดส่วนเท่าๆกันไป ยิ่งความยาวโฟกัสไกลเท่าใดก็ยิ่งประคองกล้องให้นิ่งได้ยากมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

เทคโนโลยี Image Stabilizer ของแคนนอนสามารถช่วยให้ภาพของคุณคมชัดได้แม้ในขณะใช้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำก็จริง แต่หากคุณได้เรียนรู้วิธีการจับถือเลนส์เทเลโฟโต้อย่างเหมาะสมแล้วก็จะช่วยให้คุณถ่ายภาพได้ดียิ่งขึ้น

วิธีการคือให้คุณใช้มือซ้ายประคองเลนส์อย่างมั่นคง (แต่ไม่บีบแน่นเกินไป) ในขณะที่มือขวาของคุณควบคุมการทำงานต่างๆของกล้อง ปล่อยให้น้ำหนักของกล้องและเลนส์เกือบทั้งหมด (แต่ไม่ใช่ทั้งหมด) อยู่บนมือซ้ายและปล่อยให้มือขวาว่างควบคุมกล้องได้

ชิดศอกเข้าหาตัวเพื่อให้เกิดเป็นรูปสามเหลี่ยมและช่วยประคองเลนส์ให้นิ่ง กดกล้องให้แน่นอยู่กับใบหน้า (แต่ไม่ต้องแน่นมากเกินไปนัก) เพื่อให้กล้องนิ่งยิ่งขึ้น ก่อนถ่ายภาพให้คุณหายใจเข้าครึ่งปอดแล้วกลั้นใจไว้สองสามวินาทีก่อนที่จะกดชัตเตอร์

ใช้ขาตั้งกล้องเสมอหากสามารถทำได้เพื่อให้ภาพคมชัดสูงสุด แต่ถ้าคุณไม่มีขากล้องติดไปด้วยก็สามารถอิงตัวกับกำแพง ม้านั่ง ต้นไม้หรือเสาโคมไฟเพื่อช่วยให้นิ่งที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรือถ้าคุณมีกระเป๋าหรือเสื้อแจ็คเก็ตก็สามารถใช้วางเพื่อเอาเลนส์พาดได้เช่นกัน

เลนส์มุมกว้างเป็นที่นิยมมากสำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์ สถาปัตยกรรมและอีเวนท์ต่างๆ แต่การถ่ายภาพให้ได้ดีด้วยเลนส์มุมกว้างไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป ปัจจัยต่างๆที่คุณต้องคำนึงถึงในการใช้เลนส์มุมกว้างอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้ได้ภาพที่เด็ดที่สุดมีดังต่อไปนี้

  • ไดนามิกของเส้นทแยงมุม

เมื่อเราช้อนกล้องขึ้นหรือกดกล้องลงขณะใช้เลนส์มุมกว้างก็จะเกิดปรากฏการณ์ที่เส้นวิ่งเข้าหากัน เส้นที่จากเดิมอยู่ขนานกัน (เช่น แนวขอบด้านข้างของอาคาร) จะค่อยๆเอียงเข้าหากัน เทคนิคง่ายๆนี้ช่วยให้คุณสร้างภาพที่ดูเหมือนมีไดนามิกได้ง่ายยิ่งขึ้น

  • โค้งให้เต็มที่

เพราะเลนส์มุมกว้างทำให้เส้นโค้งดูชัดเจนยิ่งขึ้นคุณจึงควรใช้จุดนี้ให้เป็นประโยชน์ รูปทางซ้ายแสดงให้เห็นแล้วว่าคุณสามารถทำให้แนวโค้งของตึกดูโค้งยิ่งกว่าเดิมได้อย่างไรโดยการช้อนเลนส์ขึ้น ทำให้ภาพดูมีไดนามิกมากยิ่งขึ้นด้วย

  • ระยะชัดลึกมากพิเศษ

คุณสามารถใช้ระยะชัดลึกที่มากเป็นพิเศษของเลนส์มุมกว้างให้เป็นประโยชน์ได้ เพียงคุณเปิดรูรับแสงให้แคบลงอีกสองสต็อปก็จะสามารถเพิ่มคุณภาพของชิ้นแก้วและเพิ่มระยะชัดลึกให้ภาพชัดได้ตลอดทั้งแต่ฉากหน้าถึงฉากหลังได้

  • การบิดเบือนด้านขอบภาพ

เนื่องจากเลนส์มุมกว้างนั้นพยายามบีบเอามุมภาพที่กว้างกว่าลงไว้ในภาพ วัตถุที่อยู่ตรงขอบภาพจึงมีการบิดเบี้ยวไปบ้าง อาการนี้จะเห็นได้ชัดเจนบริเวณทั้งสี่มุมและจะสังเกตเห็นได้เมื่อคุณถ่ายภาพหมู่ด้วยเลนส์มุมกว้างเพราะคนที่อยู่ตรงขอบรูปจะมีอาการหน้าเบี้ยว คุณสามารถแก้อาการนี้ได้โดยระวังอย่าให้แบบไปอยู่ตรงขอบรูป

  • ปัญหาในการวัดแสง

เนื่องจากเลนส์มุมกว้างเห็นภาพมากเหลือเกินจึงอาจดึงเอาท้องฟ้าเข้ามามากเกินไปด้วยจนเป็นการหลอกให้มิเตอร์ของกล้องเชื่อว่าฉากนั้นสว่าง ภาพจึงออกมาอันเดอร์ ให้คุณเล็งกล้องไปที่วัตถุที่ต้องการถ่ายเพื่อวัดแสงก่อนแล้วจึงล็อคค่านั้นเพื่อการถ่าย (วิธีการที่เราแนะนำ) หรือชดเชยสำหรับท้องฟ้าด้วยตนเองก็ได้

  • นำสายตาสู่ฉากหลังหรือวัตถุ

หากฉากหน้าและฉากหลังของคุณดูช่างกว้างใหญ่ก็ให้มีเส้นเพื่อนำสายตาจากฉากหน้าไปยังฉากหลังเพื่อไม่ให้สายตาของผู้ชมภาพเปะปะไปเรื่อย เทคนิคนี้เรียกว่าการนำสายตาและสามารถใช้เส้นที่เห็นได้ชัดเจนในภาพ (เช่น ทางเดินในทุ่ง)

  • ฉากหน้าและฉากหลัง

บางครั้งภาพที่เราเห็นเบื้องหน้าก็ดูน่าสนใจทั้งฉากหน้าและฉากหลัง และทั้งสองก็มีความเกี่ยวพันซึ่งกันและกัน การใช้เลนส์มุมกว้างสามารถขับให้ทั้งฉากหน้าและฉากหลังเด่นได้ทั้งคู่ เพียงคุณหามุมที่ทำให้ฉากหน้าและฉากหลังอยู่ในภาพเดียวกันได้อย่างลงตัวแล้วลดรูรับแสงบนเลนส์ลงเพื่อให้ระยะชัดลึกมากยิ่งขึ้น

ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าการถ่ายภาพแนวสตรีทคือการถ่ายภาพตามท้องถนน ฟังดูอาจเหมือนเป็นเรื่องเล็กแต่การถ่ายภาพแนวสตรีทก็ทำให้เราได้เห็นภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนจากสังคมต่างๆมาแล้วทั่วโลก

และเนื่องจากถนนเป็นสถานที่ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ การถ่ายภาพแนวสตรีทจึงกลายเป็นรูปแบบการถ่ายภาพที่พบเห็นได้เยอะที่สุด แต่การถ่ายภาพแนวสตรีทแบบไม่มีการวางแผนและไม่มีแนวคิดอะไรก็ไม่น่าจะก่อให้เกิดผลที่สามารถใช้การได้ บทความนี้จะเป็นการนำเสนอเทคนิคง่ายๆที่คุณสามารถปฏิบัติใช้เพื่อพัฒนาความสามารถในการถ่ายภาพแนวนี้

ในการถ่ายภาพแนวสตรีทคุณไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ที่มากมายอะไร นี่อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้การถ่ายภาพแนวนี้เป็นที่นิยมขึ้นมาได้ กล้องดิจิตอลซิงเกิ้ลเลนส์ขนาดเล็กที่ช่างภาพหลายคนมีใช้ก็เพียงพอแล้วสำหรับการถ่ายแนวสตรีท หรือหากคุณอยากจะใช้กล้องคอมแพคอย่าง IXUS หรือ PowerShot เพื่อถ่ายอย่างแนบเนียนท่ามกลางผู้คนหรือกลางถนนก็สามารถทำได้ด้วยเช่นกัน

ส่วนเรื่องเลนส์นั้นคงจะไม่สามารถระบุความยาวโฟกัสที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการถ่ายภาพแนวสตรีทได้เนื่องจากสิ่งที่มีให้ถ่ายนั้นมีอยู่หลากหลาย บางท่านอาจเลือกถ่ายจากระยะใกล้ด้วยเลนส์มุมกว้างอย่างเลนส์ 24 มม.หรือ 28 มม.จากกลางฝูงชนเพื่อเก็บบรรยากาศ บางท่านอาจชอบยืนถ่ายเน้นบุคคลหรือรายละเอียดใดๆในฉากจากระยะไกลด้วยเลนส์เทเลโฟโต้ คุณสามารถทดลองใช้เลนส์ขนาดต่างๆเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่างๆนั้นและสไตล์ของคุณเองได้ตามถนัด

ตอบคำถามที่ว่าคุณควรจะใช้เลนส์ซูมหรือเลนส์ฟิกซ์ดี เลนส์ซูมจะมอบความสะดวกและความรวดเร็วมากกว่าเพราะคุณจะสามารถถ่ายภาพได้ที่หลายความยาวโฟกัสแต่ขนาดก็จะใหญ่กว่าเลนส์ฟิกซ์และรูรับแสงก็จะแคบกว่าเลนส์ฟิกซ์ที่ระยะเท่ากัน ช่างภาพหลายรายชอบใช้เลนส์ฟิกซ์ที่เล็กและสว่างกว่าอย่างเช่นเลนส์แคนนอน EF 28mm f/1.8 เพื่อจับภาพในสภาพแสงน้อย ดังนั้นจะเห็นได้ว่าทั้งเลนส์ฟิกซ์และเลนส์ซูมก็มีข้อดีและข้อเสียในตัวของมันเอง สุดท้ายแล้วคุณเท่านั้นที่จะเป็นผู้เลือกได้

  • แฟลช

เราควรจะใช้แฟลชในการถ่ายภาพแนวสตรีทหรือไม่ คงจะไม่มีคำตอบใดเป็นคำตอบที่ถูกต้องเพราะว่าทั้งหมดขึ้นอยู่กับสถานการณ์และความตั้งใจของคุณ หากคุณต้องการถ่ายแบบแคนดิด (Candid) โดยไม่ให้แบบรู้ตัวก็ไม่สามารถใช้แฟลชได้อย่างแน่นอนเพราะจะทำให้แบบรู้ตัวและคุณก็จะไม่สามารถถ่ายภาพที่ต้องการได้ วิธีการแก้ที่ดีที่สุดคือการตั้งค่า ISO ให้สูงขึ้นเพราะไม่ว่าอย่างไรการใช้แฟลชก็จะทำให้เสียอารมณ์ภาพตามธรรมชาติอยู่ดี

แต่ถ้าคุณต้องการถ่ายภาพอีเวนท์อย่างเช่น การแสดงต่างๆตามท้องถนนอย่างที่แบบรู้ตัวอยู่แล้วและเต็มใจให้คุณถ่าย การใช้แฟลชก็สามารถทำให้สีสันในภาพสดใสยิ่งขึ้นและทำให้รายละเอียดที่ตกอยู่ในเงาปรากฏเห็นเป็นสว่างขึ้นได้ อย่างเช่นบรรดาเครื่องแต่งกายและเมคอัพที่มีสีสันนั้นก็จะปรากฏในภาพอย่างสวยงามที่สุดเมื่อมีการใช้แฟลชประกอบ

  • กระเป๋าและการแต่งกาย

ช่างภาพส่วนมากจะเห็นพ้องต้องกันว่าการแต่งตัวสบายๆแบบไม่เตะตานั้นเหมาะสำหรับการถ่ายภาพแนวสตรีทที่สุด การจะถ่ายภาพแคนดิด(Candid) ให้ประสบความสำเร็จได้นั้นคุณจะต้องทำตัวกลมกลืนกับสถานการณ์ให้ได้เสียก่อนและไม่ดึงดูดความสนใจมาที่ตัวเองแต่อย่างใด

  • ทำความคุ้นเคยกับอุปกรณ์ของคุณเอง

คงไม่มีใครที่จะถ่ายภาพออกมาดูดีได้ทั้งที่ยังไม่คุ้นเคยกับอุปกรณ์ของตนเอง เมื่อคุ้นเคยกับกล้อง EOS และเลนส์ของคุณแล้วคุณก็จะสามารถทุ่มความสนใจให้กับแบบและสถานการณ์ในแต่ละขณะนั้นเพื่อการถ่ายภาพได้อย่างดีที่สุด คุณควรจะสามารถปรับควบคุมกล้องได้โดยสัญชาตญาณเพื่อที่แบบของคุณจะได้ไม่ลุกหนีไปเสียก่อนขณะที่คุณยังก้มหน้าก้มตาปรับกล้องอยู่

  • เข้าใจแบบของคุณ

แบบบางกลุ่มมักจะมีพฤติกรรมในลักษณะหนึ่งๆอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเพราะปัจจัยอย่างเช่นอายุ สถานการณ์หรือวัฒนธรรมก็ตาม ยกตัวอย่างเช่นช่างภาพงานแต่งซึ่งทราบดีว่าพิธีการมาตรฐานของงานแต่งเป็นอย่างไรและจะสามารถจัดตนเองให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสำหรับการถ่ายช็อทต่างๆที่สุด (เช่น ช็อทตัดเค้กหรือช็อทการแลกเปลี่ยนคำมั่นสัญญา) เพราะด้วยความที่เขาเข้าใจในพฤติกรรมของแบบจึงสามารถถ่ายช็อทนั้นๆได้ดีกว่าใคร

  • ใช้เวลาตระเวนตามท้องถนนให้มากยิ่งขึ้น

การใช้เวลาอยู่บนท้องถนนจะช่วยให้คุณรู้จักและเข้าใจในพฤติกรรมและอากัปกิริยาต่างๆของแบบได้ดียิ่งขึ้นจนนำไปสู่ภาพที่ออกมาดียิ่งกว่าในที่สุด การถ่ายภาพแนวสตรีทไม่มีอะไรแน่นอน โอกาสเกิดภาพอาจมาเมื่อไรและที่ใดก็ได้ ดังนั้นการอยู่บนถนนให้มากก็จะช่วยให้คุณมีโอกาสสำเร็จมากยิ่งขึ้นด้วย

  • รู้ขอบเขตของตนเอง

คุณควรจะรับรู้และระแวดระวังสภาพแวดล้อมรอบตัวแม้ในขณะที่ถ่ายภาพอยู่ สถานที่บางแห่งอาจจะมีอันตรายแฝงมากกว่าที่อื่นๆ คุณจึงควรใส่ใจดูความเปลี่ยนแปลงรอบตัวอยู่เสมอ เช่น การออกไปตามถนนหนทางของบางเมืองในช่วงกลางคืนก็อาจจะเป็นอันตรายได้เช่นกัน

  • จังหวะเด็ด

Henri-Cartier Bresson ช่างภาพข่าวชื่อดังที่สุดผู้หนึ่งของโลกเป็นผู้ที่คิดคำว่า "the decisive moment" ขึ้นมา ในความหมายของเขาก็คือจังหวะเด็ดจังหวะนั้นเพียงจังหวะเดียวที่เป็นสื่อแทนทุกสิ่งที่แบบทำ หากคุณสามารถจับจังหวะเด็ดนั้นได้ก็จะสามารถถ่ายทอดเรื่องราวให้กับผู้อ่านได้อย่างดีที่สุดด้วย

แต่การที่จะจับจังหวะเด็ดได้นั้นคุณจะต้องเฝ้ารอและหยั่งรู้ให้เห็นถึงเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ด้วยความแม่นยำพอสมควร หากคุณสามารถหยั่งรู้ได้แล้วก็จะสามารถรอจังหวะเด็ดเพื่อเก็บภาพเหตุการณ์นั้นเมื่อมันเกิดขึ้นได้ในที่สุด

หากคุณพยายามเข้าไปสวมวิญญาณของแบบและคิดว่าต่อไปเขาจะทำอะไร ไตร่ตรองให้ดีและใจเย็นรอด้วยความรู้ความเข้าใจ คุณก็จะสามารถจับจังหวะเด็ดที่ว่านี้ได้ในที่สุด

การถ่ายมาโครคือการถ่ายภาพวัตถุขนาดเล็กแบบโคลสอัพ เช่น ก้านเกสรดอกไม้ ตราไปรษณียากรหรือนาฬิกา การถ่ายมาโครจะขยายวัตถุขนาดเล็กให้ใหญ่ขึ้นได้หลายเท่าจนเราสามารถมองเห็นรายละเอียดเล็กๆน้อยๆซึ่งอาจมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เป็นเหมือนอีกโลกแห่งความงามหนึ่งที่อยู่ใกล้ๆเราแต่เส้นผมกลับบังภูเขาอยู่นี่เอง!

อุปกรณ์ที่จำเป็นในการถ่ายมาโครมีอะไรบ้าง เลนส์ซูมตระกูล EF ของแคนนอนส่วนมากมีฟังก์ชั่นมาโครในตัวเพื่อให้คุณโคลสอัพวัตถุได้ในระดับหนึ่ง คุณสามารถถ่ายก้านเกสรดอกไม้และของเล็กๆเช่นนั้นได้ด้วยฟังก์ชั่นมาโคร แต่หากคุณอยากถ่ายให้ได้ใกล้ยิ่งกว่านั้นก็สามารถติดเลนส์โคลสอัพอย่างเช่น Canon 500D ลงบนเลนส์ปกติของคุณเพื่อให้คุณสามารถขยายภาพได้โดยไม่ต้องเสียเงินมากนัก

ในกรณีที่คุณต้องการถ่ายโคลสอัพอย่างจริงจังก็ควรเลือกมองเลนส์มาโครแท้ๆ อาทิ เลนส์มาโคร EF-S 60mm หรือ EF 100mm เพราะเลนส์กลุ่มนี้จะช่วยให้คุณสามารถขยายวัตถุได้ถึงขนาดเท่าจริงและสัมผัสได้ถึงคุณภาพในการโคลสอัพเหนือระดับ

แต่ไม่ว่าคุณจะเลือกใช้เลนส์แบบใดก็ควรจะถ่ายโดยใช้ขาตั้ง เพราะเวลาที่ถ่ายโคลสอัพนั้นอัตราการขยายจะสูงมาก หากกล้องเขย่าเพียงนิดเดียวก็จะเห็นได้ชัด การใช้ขาตั้งจะช่วยลดอาการสั่นไหวและทำให้ภาพคมกริบไร้ที่ติได้ ช่างภาพหลายคนจะใช้สายลั่นชัตเตอร์ประกอบด้วยเพื่อที่จะได้ไม่มีความเสี่ยงในการทำให้กล่องสั่นขณะกดชัตเตอร์ หากคุณไม่มีสายลั่นชัตเตอร์ก็สามารถตั้งเวลาชัตเตอร์ให้ลั่นเพื่อลดการสั่นไหวของกล้องที่เกิดจากมือคุณขณะที่กดชัตเตอร์ได้เช่นกัน

หนึ่งเรื่องที่ต้องระวังขณะถ่ายมาโครก็คือระยะชัดตื้นที่จะตื้นมากๆ ปกติแล้วแทบจะไม่พอให้วัตถุชัดได้ทั้งรูป คุณจึงต้องใช้ความระมัดระวังเพื่อให้โฟกัสตกลงบนส่วนที่สำคัญที่สุดของวัตถุพอดี เช่นหากคุณถ่ายโคลสอัพภาพดอกไม้คุณก็ต้องให้ยอดเกสรเพศเมียชัด คุณสามารถเปิดรูรับแสงให้แคบลง (ชัตเตอร์สปีดที่ช้าลงตามจะไม่มีผลต่อภาพเพราะว่าคุณใช้ขาตั้งกล้องอยู่แล้ว) แต่แม้กระนั้นระยะชัดตื้นก็จะยังตื้นมากอยู่ดีที่อัตราการขยายสูงๆดังกล่าว

และเมื่อคุณถ่ายโคลสอัพ วัตถุอาจจะอยู่ใกล้กับด้านหน้าของเลนส์มากๆ ในสถานการณ์เช่นนี้ตัวกล้องหรือเลนส์อาจจะบังแสงจากแหล่งกำเนิดแสงได้ ให้คุณย้ายตำแหน่งวัตถุ กล้องหรือแหล่งกำเนิดแสงเพื่อไม่ให้เกิดการบดบังแสงขึ้น หรือคุณอาจเลือกใช้กระดาษแข็งสีขาวเพื่อสะท้อนแสงลงบนวัตถุก็ได้เช่นกัน

ช่างภาพที่จะถ่ายมาโครจริงจังอาจเลือกลงทุนเพิ่มเติมในชุดแฟลชเพื่อการถ่ายมาโครโดยเฉพาะ แคนนอน MT-24EX ประกอบด้วยแฟลชคู่ติดตั้งทางด้านหน้าของเลนส์เพื่อให้แสงเข้าสม่ำเสมอกันไม่ว่าจะถ่ายวัตถุที่อยู่ใกล้เพียงใด หรือคุณอาจเลือกแฟลชวงแหวนแคนนอน MR-14EX ซึ่งทำงานเหมือนกับ MT-24EX เว้นเสียแต่ว่าแสงที่ได้จะเป็นวงแหวนรอบทั่ววัตถุโดยไม่มีเงาตรงจุดใดเลย

โลกของการถ่ายมาโครเป็นโลกที่น่าทึ่งและสนุกสนาน ที่ดีที่สุดก็คือว่าคุณสามารถถ่ายภาพมาโครดีๆได้ทุกที่ทุกเวลา เช่นถ้าคุณติดฝนอยู่กับบ้านก็สามารถเอากล้อง EOS ของแคนนอนออกมาแล้วเริ่มถ่ายมาโครได้เลย จะถ่ายเม็ดฝนที่เกาะอยู่บนกระจกหน้าต่างก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน ไม่ผิดกฎกติกาแต่อย่างใดทั้งสิ้น!

การถ่ายภาพแสงเป็นอะไรที่ง่ายด้วยและสนุกด้วย คุณแทบไม่ต้องการอุปกรณ์อะไรพิเศษเลยหากคุณมีขาตั้งอยู่แล้ว การถ่ายภาพยามค่ำคืนโดยหลักแล้วก็คือการเปิดชัตเตอร์นานๆเพื่อจับแสงที่อยู่ในฉาก คุณจึงจำเป็นต้องมีขาตั้งที่ดีและมั่นคง ช่างภาพหลายคนจะใช้สายลั่นชัตเตอร์ประกอบด้วยเพื่อที่จะได้ไม่มีความเสี่ยงในการทำให้กล่องสั่นขณะกดชัตเตอร์ หากคุณไม่มีสายลั่นชัตเตอร์ก็สามารถตั้งเวลาชัตเตอร์ให้ลั่นเพื่อลดการสั่นไหวของกล้องที่เกิดจากมือคุณขณะที่กดชัตเตอร์ได้เช่นกัน

เนื่องจากคุณใช้ขาตั้งอยู่แล้วคุณจึงสามารถใช้ ISO ต่ำๆและความเร็วชัตเตอร์ช้าๆได้เพื่อให้ภาพออกมาดูดีที่สุดและมีน๊อยซ์ต่ำ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกล้อง EOS มีอิมเมจโปรเซสเซอร์ DIGIC อยู่แล้ว) และความเร็วชัตเตอร์ต่ำจะช่วยให้คุณเก็บการเคลื่อนไหวของแสงให้เห็นเป็นสายได้

ชื่ออาจจะบอกอยู่ว่าเป็นการถ่ายภาพยามค่ำคืน แต่ถ้าถ่ายตอนค่ำก็จะสวยงามกว่ามืดสนิท แสงสุดท้ายที่ยังหลงอยู่บนท้องฟ้าจะช่วยให้ภาพสว่างขึ้นอีกนิด ภาพที่ออกมาจะได้ไม่เห็นท้องฟ้าเป็นสีดำสนิทดูน่าเบื่อ ขอแนะนำให้คุณถ่ายภาพเวลา 19.00 – 19.30 น. เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ดีที่สุดและได้ฟ้าที่สวยน่าชมที่สุดด้วย

ลองตั้งค่าแสงต่างๆกันดูเพราะว่าเวลาในการเปิดชัตเตอร์ที่ต่างกันก็จะให้ผลที่ต่างกัน การเปิดชัตเตอร์นานถึง 30 วินาทีก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรด้วย เพราะยิ่งเปิดชัตเตอร์นานเท่าใดคุณก็จะยิ่งมีเวลาเก็บแสงที่พาดผ่านได้นานเท่านั้น ให้ภาพของคุณดูมีชีวิตชีวาอย่างเต็มที่ หากในภาพคุณมีถนนและรถวิ่งผ่าน แสงสีแดงที่มาจากไฟเบรคมักจะปรากฏเป็นสายในภาพได้สวยกว่าแสงสว่างจากไฟหน้าด้วย

หากคุณเป็นมือใหม่กับการถ่ายภาพยามค่ำคืนจริงๆ ก็ขอเพียงคุณตั้งกล้องบนขาตั้ง จัดองค์ประกอบภาพแล้วโฟกัส จากนั้นจึงตั้งกล้องเป็นโหมด Aperture Priority (Av) และตั้งรูรับแสงเป็น f/8 และ ISO ที่ 100 เริ่มถ่ายภาพในช่วง 19.00 - 19.30 น. เท่านี้คุณก็จะมีภาพถ่ายยามค่ำคืนเป็นชุดเป็นการชิมลางแล้ว โปรดอย่าลืมว่าการถ่ายภาพยามค่ำคืนนี้เป็นเหมือนการทดลอง จึงขอให้ทุกท่านไม่ลืมที่จะรู้สึกเพลิดเพลินไปกับการทดลองนี้ด้วย