นโยบายสิ่งแวดล้อม - Canon Thailand

นโยบายคุณภาพ สิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย และความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ

ประกาศ
ที่ QEHS 002 / 2024
เรื่อง นโยบายคุณภาพ สิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย และความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ

บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด ดำเนินธุรกิจด้านจำหน่ายสินค้าและบริการในผลิตภัณฑ์ภายใต้ชื่อ แคนนอน (Canon) ประเภทสินค้าออฟฟิศ ออโตเมชั่น เช่น เครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องพิมพ์ กล้องถ่ายภาพและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ซึ่งตระหนักถึงความสำคัญของระบบบริหารงานด้านคุณภาพ สิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย และความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ ตามปรัชญา “เคียวเซ” ที่หมายถึง การดำรงอยู่และทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม จึงได้จัดตั้งระบบการบริหารงานด้านคุณภาพ สิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย และความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ โดยผู้บริหารระดับสูงและพนักงานทุกคนมีความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติดังต่อไปนี้

1. บริษัทฯ จะสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าทางด้าน

  • คุณภาพของสินค้าที่เป็นเลิศ
  • การส่งมอบสินค้าที่ตรงเวลาและความต้องการ
  • การบริการที่ประทับใจภายใต้คำขวัญที่ว่า

“มุ่งสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า ทั้งด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์และบริการ”

2. ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อกำหนดต่างๆ ทางด้านคุณภาพ สิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย และความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ ที่เกี่ยวข้องทั้งกฎหมายภายในประเทศ กฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงข้อกำหนดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อกำหนดของลูกค้า ข้อกำหนดฉลากเขียวของประเทศไทย ข้อกำหนดการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และสำนักงานสีเขียว เป็นต้น

3. สร้างจิตสำนึก ให้ความรู้ และเผยแพร่นโยบาย เกี่ยวกับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย ความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ ให้แก่พนักงาน บุคลากรที่ทำงานในนามองค์กร ตลอดทั้งผู้ที่ทำงานภายใต้การควบคุมขององค์กร ให้ดำเนินงานภายใต้นโยบายของบริษัทฯ

4. ส่งเสริม สนับสนุนให้พนักงานมีส่วนร่วมในกิจกรรมด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย การอนุรักษ์พลังงาน การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีการจัดทำโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น การรับคืนตลับหมึกที่ใช้งานแล้วคืน การคัดแยกของเสียอันตราย สำนักงานสีเขียว การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในสำนักงาน รณรงค์และจัดกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก Net Zero การจัดซื้อจัดจ้าง และบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยจะพิจารณานำไปจัดทำเป็นวัตถุประสงค์และเป้าหมาย เพื่อนำไปปฏิบัติและทบทวนอย่างต่อเนื่อง

5. มีการกำจัดอันตราย ลดความเสี่ยงด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย การป้องกันอันตราย การลดอุบัติเหตุที่เกิดจากการทำงาน เช่น การใช้ยานพาหนะ การใช้ไฟฟ้า การใช้สารเคมี การเจ็บป่วยจากโรคจากการทำงาน รวมทั้งการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ โดยบริษัทฯ จัดให้มีสภาพการทำงานที่ปลอดภัย ส่งผลดีต่อสุขภาพ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บ การเจ็บป่วย พร้อมทั้งจัดสรรอุปกรณ์ป้องกันอันตรายจากการทำงานตามความเสี่ยงของงาน ตลอดทั้งจัดหาอุปกรณ์ป้องกันโรคติดต่อได้อย่างเหมาะสม รวมถึงการให้คำปรึกษาและการมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงานและตัวแทนของผู้ปฏิบัติงาน

6. มีการกำหนดมาตรการและแนวทางปฏิบัติเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศให้แก่ข้อมูลอันเป็นความลับทั้งของบริษัทฯ และของลูกค้า

7. บริษัทฯ จะมีการติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบาย และวัตถุประสงค์ เพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

 

ประกาศ ณ วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2567

(นายฮิโรชิ โยโกตะ)
ประธานบริษัทและประธานกรรมการบริหาร

กลับสู่ด้านบน

นโยบายสิ่งแวดล้อมของแคนนอนกรุ๊ป

ปรัชญาของแคนนอน
เคียวเซ

พัฒนาและเติบโตอย่างมั่นคงไปพร้อมๆ กับการสร้างสรรค์โลกและความสุขของมวลมนุษย์


ปรัชญาด้านสิ่งแวดล้อม

มุ่งมั่น ค้นคว้า วิจัย เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และนำเสนอนวัตกรรมคุณภาพ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน


นโยบายพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อม

ดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยทุกผลิตภัณฑ์ของแคนนอนยึดหลัก EQCD มาใช้ เพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า ไร้สารพิษ ปลอดภัยต่อทุกชีวิต และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม


หลัก EQCD

E : สิ่งแวดล้อม - ไม่ผลิตสินค้าที่เป็นอันตราย หรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
Q : คุณภาพ - ไม่ผลิตและจำหน่ายสินค้าที่คุณภาพไม่ได้มาตรฐาน
C : ราคา - ไม่ผลิตและจำหน่ายสินค้าในราคาที่ไม่เหมาะสม
D : การขนส่ง - ไม่ผลิตและจำหน่ายสินค้าที่มีการขนส่งที่ไม่ถูกต้อง

  • ส่งเสริมให้ทุกบริษัทในเครือของแคนนอนทั่วโลก นำนโยบายทางด้านสิ่งแวดล้อมไปใช้
  • ตรวจสอบและประเมินผลกระทบของผลิตภัณฑ์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม
  • ส่งเสริมสนับสนุนการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยี และวัตถุดิบเพื่อสิ่งแวดล้อม และเผยแพร่ความรู้สู่สังคม
  • ปฏิบัติตามกฎหมายของแต่ละประเทศ และข้อตกลงระหว่างแคนนอน กับผู้ถือผลประโยชน์ร่วมอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งสนับสนุนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน ลดการใช้สารพิษในทุกขั้นตอนการปฏิบัติงาน
  • ในการจัดหา จัดซื้อวัตถุดิบ อะไหล่ และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้ความสำคัญกับเรื่องการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก
  • กำหนดระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (EMS) ทบทวนวัตถุประสงค์และเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการก่อเกิดมลพิษ ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม
  • สื่อสารหรือประกาศนโยบายและความคืบหน้า ของการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม ต่อผู้ถือผลประโยชน์ร่วมทุกท่าน
  • กระตุ้นและส่งเสริมให้บุคลากรในองค์กร ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม
  • สร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีต่อรัฐบาล ชุมชน รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยให้การสนับสนุนและเข้ามีส่วนร่วมในกิจกรรม เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

ประกาศ ณ วันที่ 23 มีนาคม 2550

(นายฟูจิโอะ มิตาไร)
President and CEO
Canon Inc

กลับสู่ด้านบน

การรับรองมาตรฐานการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม : ISO 14001

การได้รับการรับรองมาตรฐานระบบ ISO 14001 อยู่บนพื้นฐานของมาตรฐานสากลที่กำหนดโดยองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (ISO) ซึ่งจะมอบให้กับหน่วยงานที่มีความตระหนักถึงการควบคุมกระบวนการทำงานทุกขั้นตอนที่จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

กลุ่มบริษัทแคนนอนทั่วโลก รวมถึงบริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด ได้รับการรับรองมาตรฐานระบบ ISO 14001 ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2550 โดยยึดหลักปรัชญาด้านสิ่งแวดล้อมของแคนนอนกรุ๊ปที่จะดำเนินธุรกิจไปควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด ได้นำหลักปรัชญาด้านสิ่งแวดล้อมของแคนนอนกรุ๊ปมาเป็นพื้นฐานการดำเนินการระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมไปยังศูนย์บริการแคนนอนทุกที่ทั่วประเทศจนผ่านการรับรองมาตรฐานระบบ ISO 14001 ได้แก่ สำนักงานใหญ่, สาขาเชียงใหม่, สาขาขอนแก่น และ Workshop ปทุมธานี โดยจะดำเนินการรักษามาตรฐานพร้อมทั้งพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่อง

กลับสู่ด้านบน

การรับรองมาตรฐานการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม : การรับรองผลิตภัณฑ์ฉลากเขียว

ฉลากเขียว

(Green label หรือ eco-label) คือ ฉลากที่มอบให้แก่ผลิตภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ที่ทำหน้าที่อย่างเดียวกัน โดยที่คุณภาพยังอยู่ในระดับมาตรฐานที่กำหนด ดังนั้น ฉลากเขียวจึงเป็นตัวผลักดันให้ผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายต้องแข่งขันกันปรับปรุงคุณภาพของสินค้าหรือบริการ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ฉลากเขียว เป็นมาตรการภาคความสมัครใจที่เกิดขึ้นจากความจำเป็นในการฟื้นฟูและรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการพัฒนา ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเน้นการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่สำคัญของสังคมได้แก่ ผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันมีประเทศต่างๆ ที่ดำเนินโครงการประเภทนี้มากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก


โครงการฉลากเขียวประเทศไทย

ริเริ่มขึ้นโดยคณะกรรมการนักธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมไทย (Thailand Business Council for Sustainable Development, TBCSD) เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2536 และได้รับความเห็นชอบและความร่วมมือจากกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม (ซึ่งภายหลังเปลี่ยนเป็น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมและสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยทำหน้าที่เป็นเลขานุการ


แนวคิดของโครงการฉลากเขียว
  • ฉลากเขียว เป็นฉลากที่ออกให้กับผลิตภัณฑ์ ซึ่งได้ผ่านการประเมินและตรวจสอบว่าได้มาตรฐานทางด้านคุณภาพและสิ่งแวดล้อมตามข้อกำหนดที่ทางคณะกรรมการบริหารโครงการฉลากเขียวประกาศใช้
  • เป็นโครงการโดยสมัครใจของผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย หรือผู้ให้บริการ ที่ต้องการแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
  • ปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีทางด้านสิ่งแวดล้อมให้แก่ผู้บริโภค โดยการแนะนำผลิตภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย และกระตุ้นให้มีการบริโภคผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมากขึ้น
  • กระตุ้นให้กลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิต หันมาใช้เทคโนโลยีที่สะอาดเพื่อผลิตภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย
  • กระตุ้นให้รัฐบาลและเอกชน ร่วมมือกันฟื้นฟูและรักษาสิ่งแวดล้อม ลดปัญหามลภาวะด้วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค

หลักการในการคัดเลือกประเภทผลิตภัณฑ์ออกข้อกำหนดฉลากเขียว
  • เป็นผลิตภัณฑ์ที่เพื่ออุปโภคบริโภคทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น กระดาษ สี อุปกรณ์ ประหยัดพลังงานหรืออุปกรณ์ประหยัดน้ำ (ทั้งนี้ ไม่รวม ยา เครื่องดื่ม และอาหาร) 
  • คำนึงถึงผลกระทบของผลิตภัณฑ์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม และคุณประโยชน์ทางสิ่งแวดล้อมที่ได้รับเมื่อผลิตภัณฑ์นั้นจำหน่ายออกสู่ตลาด
  • มีวิธีการตรวจสอบที่ไม่ยุ่งยากและเสียค่าใช้จ่ายสูง ในการประเมินคุณภาพของผลิตภัณฑ์ตามข้อกำหนด
  • เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้ผลิตมีทางเลือกอื่นในการผลิตที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า

หลักการทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ใช้เป็นแนวทางในการทำงาน

เนื่องจากฉลากเขียว เป็นฉลากที่มอบให้กับผลิตภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกัน ดังนั้นคณะกรรมการบริหารโครงการฉลากเขียวจึงวางหลักการทางสิ่งแวดล้อมเพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินโครงการ ตลอดจนใช้เป็นพื้นฐานในการคัดเลือกประเภทของผลิตภัณฑ์ การตั้งหลักการและออกข้อกำหนดสำหรับผลิตภัณฑ์นั้นๆ ดังต่อไปนี้

  • การจัดการทรัพยากร ทั้งที่เกิดขึ้นได้ใหม่ (Renewable resources) และที่มีแต่หมดสิ้นไป (Non-Renewable resources) อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
  • การลดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศ โดยส่งเสริมให้มีการผลิต การขนส่ง การบริโภค และการกำจัดทิ้งหลังใช้แล้วอย่างมีประสิทธิภาพ
  • การนำขยะมูลฝอยทั่วไปและขยะอันตรายกลับมาใช้ประโยชน์อย่างอื่น (Reuse) หรือหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ (Recycle)

โดยการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จะพิจารณาผลกระทบตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์นั้นๆ

ที่มา : สำนักเลขานุการโครงการฉลากเขียว, สถาบันสิ่งแวดล้อม website : https://www.tei.or.th/greenlabel/

กลับสู่ด้านบน

นโยบายสิ่งแวดล้อมโครงการสำนักงานสีเขียว

บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด มีนโยบายในการจัดการองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่สำนักงานสีเขียว (Green Office) เพื่อให้นโยบายดังกล่าวเกิดผลเป็นรูปธรรมมีประสิทธิภาพและบรรลุตามเป้าหมาย จึงประกาศนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมโครงการสำนักงานสีเขียว โดยผู้บริหารระดับสูงและพนักงานทุกคนมีความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามนโยบาย ดังต่อไปนี้

  1. ร่วมกันปฏิบัติตามกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมและเกณฑ์ต่างๆ ในการเป็นสำนักงานสีเขียวตามเกณฑ์ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
  2. ส่งเสริมในการควบคุมการใช้พลังงาน น้ำ และทรัพยากรต่างๆ ของสำนักงานให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนี่อง
  3. มุ่งมั่นในการปรับปรุงสิ่งแวดล้อม โดยมีการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  4. ส่งเสริมให้เกิดความตระหนักรู้ในการลดและป้องกันการปล่อยขยะ ของเสียและมลพิษอื่นๆ จากกิจกรรมการทำงาน
  5. รณรงค์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากทุกกิจกรรมในการดำเนินงานภายในสำนักงาน
  6. สื่อสารนโยบายสิ่งแวดล้อมต่อบุคคลากรและเผยแพร่ต่อบุคคลากรภายนอกให้ทราบถึงความมุ่งมั่นในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของสำนักงาน
  7. ผู้บริหารและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมโครงการสำนักงานสีเขียว จะทบทวนและปรับปรุงนโยบาย เป้าหมายและแผนดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมโครงการสำนักงานสีเขียวอย่างต่อเนื่องและมีการติดตามการบรรลุผลสำเร็จของวัตถุประสงค์ทุกปี

 

ประกาศ ณ วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2566

นายพงษ์เทพ ประเสริฐวรนันท์
ผู้แทนฝ่ายบริหาร

กลับสู่ด้านบน